![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhcM0YZ6rsDq4ceKeAVTEfJSwtDROsaHHqgssFJZXv6hbDruExLnkCDfr5kfnKEZQrprbFYHWw03BYV8gf95ARKtDLLQYIViQXOKGs88-SnlCVCr8P4ZlA1zPYI8we6-n4DIp65__RR8To/s320/c.files_.bbci_.co_.uk_109924125_img_7148e-76d2849094acf4af32b952c7e9b785d97b0a2747.jpg)
ทีมนักวิจัยจากศูนย์พันธุศาสตร์บรรพชีวิน (Center for Paleogenetics ) ของสวีเดน เปิดเผยว่าผลการตรวจดีเอ็นเอจากซากลูกสุนัขตัวผู้อายุเก่าแก่ถึง 18,000 ปี ซึ่งมีผู้ขุดพบในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ของรัสเซีย เมื่อฤดูร้อนของปีที่แล้ว ไม่สามารถชี้ชัดถึงชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ของมันได้ ซึ่งหมายความว่ามันเป็นสุนัขในสายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน
ผลการตรวจสอบทางพันธุกรรมดังกล่าวทำให้มีการสันนิษฐานว่า ลูกสุนัขตัวนี้อาจเป็นบรรพบุรุษร่วมของหมาป่าและหมาบ้านยุคใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา หรืออาจเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนวิวัฒนาการจากหมาป่าไปเป็นหมาบ้านก็เป็นได้
มีการค้นพบซากลูกสุนัขโบราณวัย 2 เดือนในสภาพสมบูรณ์ บริเวณใกล้กับแม่น้ำสายหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองยาคุตสค์ (Yakutsk)ในเขตไซบีเรีย เมื่อปี 2018 โดยมันยังมีขนฟู มีผิวหนังนุ่มนิ่มตรงจมูก รวมทั้งมีฟันและเขี้ยว ไปจนถึงขนตาและหนวดครบสมบูรณ์ เหมือนกับเพิ่งตายลงได้ไม่นาน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาซากลูกสุนัขตัวนี้ ตั้งชื่อให้มันว่า “ดอกอร์” (Dogor) ซึ่งมีความหมายว่า “เพื่อน” ในภาษายาคุตสค์ ทั้งยังออกเสียงคล้ายกับวลีภาษาอังกฤษ “ด็อก ออร์…” (Dog or…?) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่ามันเป็นสุนัขบ้านหรือสุนัขป่าหรืออะไรกันแน่
“มันอาจเป็นลูกหมาป่าในยุคน้ำแข็ง หรือเป็นสุนัขบ้านในยุคแรกเริ่ม หรือเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างขั้นตอนวิวัฒนาการของสุนัขสองชนิดนี้” ดร. เลิฟ ดาเลน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “แต่เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นสุนัขเลี้ยงของมนุษย์ในยุคน้ำแข็งด้วยหรือไม่”
ซากลูกสุนัขจากยุคน้ำแข็ง ถูกพบในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวของเขตไซบีเรีย
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สุนัขบ้านหรือสุนัขสมัยใหม่วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษที่เป็นสุนัขป่า แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า สุนัขกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อใดกันแน่ โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในปี 2017 ระบุว่า อาจเป็นช่วง 20,000-40,000 ปีก่อน
ที่มา https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3097800
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น