ซีแลนเดีย : ทวีปที่ 8 ของโลกที่ใช้เวลา 375 ปี กว่าจะหาจนเจอ
ย้อนไปเมื่อปี 1642 อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์มากประสบการณ์ ออกเดินทางไปในซีกโลกใต้เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่าต้องมีทวีปขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ ในช่วงนั้น ภูมิภาคแถบนี้ยังเป็นสิ่งลึกลับสำหรับชาวยุโรป แต่ก็เชื่อกันอย่างปักใจว่าต้องมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลอยู่ และก็ได้ตั้งชื่อไว้ก่อนแล้วว่า เทอร์รา ออสเตรลิส (Terra Australis)
วันที่ 14 ส.ค. เขาออกเดินเรือจากฐานที่ตั้งของบริษัทที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ไปได้ไกลสุดแค่เกาะนิวซีแลนด์ และเกิดการปะทะต่อสู้กับชาวชนเผ่าเมารี เป็นเหตุให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไป 4 ราย
นั่นเป็นจุดจบของการเดินทางในครั้งนั้น และเขาไม่ได้แม้แต่ลงไปเหยียบบนเกาะนิวซีแลนด์
และก็ไม่รู้ตัวเลยว่าจริง ๆ แล้ว ทวีปลึกลับที่ว่ามีอยู่จริง
หลายร้อยปีผ่านไป ในปี 2017 เกิดเป็นข่าวใหญ่หลังกลุ่มนักธรณีวิทยากลุ่มหนึ่งประกาศว่า พวกเขาได้ค้นพบซีแลนเดีย ทวีปขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่ 4.9 ล้าน ตร.กม. หรือใหญ่กว่าเกาะมาดากัสการ์ถึง 6 เท่า
แม้ว่าสารานุกรม แผนที่ หรือผลการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จะยืนยันว่าโลกเรามีแค่ 7 ทวีป ทีมผู้เชี่ยวชาญนี้เชื่อว่านั่นไม่จริง จริง ๆ แล้วโลกเรามี 8 ทวีป และทวีปน้องใหม่นี้ก็ทำลายทุกสถิติ เป็นทวีปที่เล็กที่สุด บางที่สุด และมีอายุน้อยที่สุด
ปัญหาคือ 94% ของทวีปนี้จมอยู่ใต้มหาสมุทร มีเกาะไม่กี่แห่งเท่านั้น อาทิ นิวซีแลนด์ ที่โผล่จากน้ำขึ้นมา
"นี่เป็นตัวอย่างของบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหมือนจะชัดเจนแต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะค้นพบ" แอนดี ทัลลอค นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิจัย จีเอ็นเอส ไซแอนส์ ของนิวซีแลนด์ (New Zealand Crown Research Institute GNS Science) ผู้เป็นสมาชิกทีมซึ่งค้นพบทวีปนี้เมื่อปี 2017
แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น สี่ปีผ่านไป ทวีปน้องใหม่นี้ก็ยังลึกลับเหมือนเดิมด้วยความที่อยู่ใต้น้ำลึก 2 กิโลเมตร ทวีปนี้ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งมีชีวิตประเภทไหนเคยอาศัยอยู่ และมันจมอยู่ใต้น้ำลึกมานานเท่าไรแล้ว
การค้นพบที่ใช้เวลาแสนยาวนาน
คำบอกใบ้แรกว่าทวีปซีแลนเดียมีอยู่จริงมาจากนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอตแลนด์ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ เขาเข้าร่วมการเดินเรือสำรวจเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไปจากชายฝั่งทางใต้ของเกาะนิวซีแลนด์ในปี 1985
หลังจากศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของเกาะต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เขาสรุปว่า นิวซีแลนด์ "เป็นสิ่งที่หลงเหลือของเทือกเขาที่ก่อตัวเป็นยอดของบริเวณทวีปขนาดใหญ่ที่เหยียดยาวจากทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันออก ซึ่งตอนนี้จมน้ำอยู่..."
แม้ว่าจะรู้เช่นนี้แล้ว ความรู้ที่มีต่อซีแลนเดียก็ยังน้อยนิดอยู่จนกระทั่งทศวรรษ 1960 ซึ่งนักธรณีวิทยาตกลงกันได้ในที่สุดว่านิยามของคำว่า "ทวีป" คืออะไร
โดยความหมายกว้าง ๆ แล้ว ทวีปคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีการยกตัวสูงขึ้น มีหินหลากหลายชนิด และมีเปลือกพื้นทวีปที่หนา และนอกจากนี้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ด้วย
นี่เป็นเกณฑ์สำหรับนักธรณีวิทยา หากพวกเขารวบรวมหลักฐานได้ก็จะพิสูจน์ได้ว่าทวีปที่ 8 ของโลกมีอยู่จริง
อย่างไรก็ดี การสำรวจทวีปใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะทั้งยากเย็นและต้องใช้งบประมาณเยอะ และ นิค มอร์ติเมอร์ นักธรณีวิทยาที่สถาบันวิจัย จีเอ็นเอส ไซแอนส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสำรวจในครั้งนั้น บอกว่า ในตอนนั้น ไม่มีความรู้สึกรีบเร่งที่จะต้องสำรวจเรื่องนี้ด้วย
จนกระทั่งในปี 1995 นักธรณีฟิสิกส์ชาวอเมริกัน บรูซ ลูเยนดิค ออกมาย้ำอีกครั้งว่าบริเวณดังกล่าวถือเป็นทวีป และก็เรียกมันว่า ซีแลนเดีย หลังจากนั้น ทัลลอค บอกว่ากระบวนการสำรวจก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยบอกว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถขยายพื้นที่ของตัวเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เลยไปจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กม. จากชายฝั่งประเทศ) ซึ่งจะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ
หากนิวซีแลนด์สามารถพิสูจน์ได้ว่าประเทศเป็นส่วนหนึ่งของทวีปที่ใหญ่กว่า พวกเขาก็อาจสามารถขยายอาณาเขตตัวเองออกไปได้ถึง 6 เท่าตัว
และเมื่อมีเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ก็สามารถมองเห็นได้ว่าซีแลนเดียเป็นผืนแผ่นดินรูปร่างแปลกที่ขนาดใหญ่เกือบเท่าออสเตรเลีย
"ลองคิดดูแล้วมันเจ๋งดีนะ" มอร์ติเมอร์ กล่าว "ทุกทวีปมีประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่แล้ว แต่บนซีแลนเดียมีแค่ดินแดน 3 แห่งเท่านั้น"
นอกจากนิวซีแลนแล้ว ซีแลนด์เดียยังครอบคลุมเกาะนิวแคลิโดเนียของฝรั่งเศส และเกาะลอร์ด ฮาว ไอส์แลนด์และเกาะบอลส์พีระมิด ของออสเตรเลีย ด้วย
ในอดีต ซีแลนเดีย เป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่หรือมหาทวีป (supercontinent) โบราณที่ชื่อ กอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งก่อตัวเมื่อราว 550 ล้านปีที่แล้ว และรวมแผ่นดินผืนต่าง ๆ ในซีกโลกใต้เข้าไว้ด้วยกัน
จากนั้นเมื่อ 105 ล้านปีที่แล้ว ทัลลอคบอกว่า "ด้วยกระบวนการที่ตอนนี้เราก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด ซีแลนเดียก็เริ่มถูกดึงแยกอกไป"
โดยทั่วไป เปลือกภาคพื้นทวีปจะหนาราว 40 กิโลเมตร ส่วนเปลือกพื้นมหาสมุทรจะหนาราว 10 กิโลเมตร ส่วนซีแลนเดียถูกดึงและยืดจนเปลือกของภาคพื้นทวีปตอนนี้หนาแค่ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดทวีปที่บางแห่งนี้ก็จมหายลงไปในมหาสมุทร แต่ก็ไม่ได้ลึกลงไปเท่าระดับของเปลือกพื้นมหาสมุทร
แม้จะบางและจมอยู่ใต้น้ำ นักธรณีวิทยารู้ว่าซีแลนเดียถือเป็นทวีปเพราะหินชนิดต่าง ๆ ที่พบ เปลือกภาคพื้นทวีปมักจะประกอบไปด้วยหินอย่างแกรไนต์ หินชีสต์ และหินปูน ส่วนพื้นมหาสมุทรจะเป็นหินอัคนีอย่างหินบะซอลต์
แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังคงลึกลับสำหรับนักธรณีวิทยา ยกตัวอย่างเช่นว่า ทำไมซีแลนเดียถึงยังเกาะตัวเป็นผืนเดียวกันได้ ไม่แตกตัวกลายเป็นทวีปเล็ก ๆ แยกย่อย ทั้ง ๆ ที่พื้นทวีปบางมาก อีกปริศนาหนึ่งก็คือเหตุใดมันถึงจมไปอยู่ใต้น้ำ
ทัลลอคบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความคิดเห็นเป็นฝักฝ่าย บ้างมองว่ามันจมน้ำมาตลอดยกเว้นเกาะบางแห่ง บ้างมองว่ากาลครั้งหนึ่ง มันเคยเป็นแผ่นดินที่อยู่พ้นน้ำทั้งผืน
นี่นำไปสู่คำถามต่อไปว่า มีสิ่งมีชีวิตประเภทใดเคยอาศัยอยู่บนทวีปแห่งนี้
มหาทวีปกอนด์วานาซึ่งกว้าง 101 ตร.กม. เคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสี่ขาและในเวลาต่อมาของไดโนเสาร์ไททันโนซอรัสด้วย
เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ไหมว่าซีแลนเดียจะมีซากของไดโนเสาร์ฝังอยู่
ข้อถกเถียงเรื่องไดโนเสาร์
ซากฟอสซิลของสัตว์บกหาได้ยากในซีกโลกใต้ แต่ก็มีการพบซากดังกล่าวของสัตว์หลายชนิดในนิวซีแลนด์เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ได้แก่ กระดูกซี่โครงของไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีหางและคอยาว ไดโนเสาร์ฮิปซิโลโฟดอนซึ่งปากเป็นจะงอยและกินพืชเป็นอาหาร รวมถึงไดโนเสาร์แองคีโลซอรัส
จากนั้นในปี 2006 ก็มีการพบกระดูกเท้าของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นไดโนเสาร์อัลโลซอรัส ที่หมู่เกาะแชทัม ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ประมาณ 800 กิโลเมตร
สิ่งที่น่าสังเกตคือ ซากฟอสซิลต่าง ๆ ที่ค้นพบล้วนมาจากยุคที่ซีแลนเดียแยกตัวออกจากกอนด์วานาแล้ว
การค้นพบข้อหนึ่งที่ชี้ว่าซีแลนเดียอาจจะเคยอยู่พ้นน้ำมาตลอดคือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านกกีวี สัตว์มีขนที่บินไม่ได้ซึ่งเป็นที่รักของชาวนิวซีแลนด์ มีต้นสายพันธุ์เดียวกันกับนกช้างยักษ์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์จนกระทั่ง 800 ปีที่แล้ว และก็ทำให้เชื่อว่าสัตว์ทั้งสองชนิดมีต้นสายพันธุ์จากสัตว์ชนิดเดียวกันที่เคยอาศัยอยู่บนมหาทวีปกอนด์วานา
มหาทวีปดังกล่าวใช้เวลา 130 ปี กว่าจะแยกและกระจัดกระจายไปทั่วโลก กลายเป็นทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา มาดากัสการ์ แอนตาร์กติกา ออสเตรเลีย คาบสมุทรอาหรับ อนุทวีปอินเดีย และก็ซีแลนเดีย
นี่จึงชี้ว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ต้องมีบางส่วนของซีแลนเดียที่จมอยู่ใต้น้ำตอนนี้เคยอยู่พ้นน้ำมาโดยตลอด
แต่ราว 25 ล้านปีที่แล้ว เชื่อกันว่าทั้งทวีปนี้ รวมถึงนิวซีแลนด์ด้วย จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด รูเพิร์ต ซัธเทอร์แลนด์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งเวลลิงตัน บอกว่า เชื่อกันว่าสัตว์และพืชชนิดต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ เข้ามาอยู่อาศัยหลังจากนั้น
เมื่อปี 2017 ทีมผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจแบบครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยทำมา โดยเจาะลงไป 1,250 เมตร ใต้ก้นทะเลลึกของทวีปซีแลนเดีย โดยสำรวจไป 6 บริเวณด้วยกัน แล้วก็พบทั้งเกสรของพืชบนบก แล้วก็สปอร์และเปลือกของสิ่งมีชีวิตประเภทที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำอุ่นและตื้น
ซัธเทอร์แลนด์ บอกว่าเกสรหรือสปอร์ ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ว่าซีแลนเดียอาจจะไม่ได้จมอยู่ใต้น้ำมาตลอดอย่างที่คิด
ซัธเทอร์แลนด์ บอกอีกว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ถึงความลับทั้งหมดเกี่ยวกับทวีปนี้
"มันยากที่จะค้นพบอะไรเมื่อทุกอย่างอยู่ลึกถึง 2 กิโลเมตรใต้น้ำ และชั้นที่ต้องเก็บตัวอย่างก็อยู่ลึกจากก้นทะเลไปอีก 500 เมตร" ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งเวลลิงตันผู้นี้กล่าว โดยบอกว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องใช้ทั้งเวลา เงิน และความพยายาม
เกือบ 400 ปีผ่านไป หลังความพยายามของทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์ ทวีปที่ 8 ของโลกนี้ก็ยังลึกลับอยู่แทบไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น