วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อตัวแค่ 1.5 เมตร
นักวิทยาศาสตร์ขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก ตัวแค่ 1.5 เมตร ในทะเลทางตอนใต้ของบราซิล ล่าเหยื่อด้วยกรงเล็บและอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 90 ล้านปีที่แล้ว
ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากบราซิลและอาร์เจนตินา ได้ขุดพบ ฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดแค่ 1.5 เมตร เป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ เวสเปอร์ซอรัสพารานาเอ็นซิส (Vespersaurus paranaensis) ไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ ซึ่งพบในพื้นที่ของรัฐปารานา ของบราซิล ตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค.2019 ที่ผ่านมา และเพิ่งเปิดเผยการค้นพบดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่คาดว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ที่เขตเทศบาลครูไซโร ดู เอิสเต (Cruzeiro do Oeste) ของรัฐปารานา ในบราซิล โดยเวสเปอร์ซอรัสจัดเป็นไดโนเสาร์เทโรพอด (theropod) ซึ่งเป็นกลุ่มไดโนเสาร์กินเนื้อสองเท้า และไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือไทแรนนอซอรัส (tyrannosaurus) และเวโลซิแรปเตอร์ (velociraptor)
“เป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่เกือบ 50 ปีให้หลังนั้น ดูเหมือนว่าเราได้ค้นพบชนิดของไดโนเสาร์ที่ได้ฝากรอยเท้าอันลึกลับไว้” เปาโล แมนซิก (Paulo Manzig) จากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาแห่งครูไซโรดูเอิสเต (Paleontology Museum of Cruzeiro do Oeste) กล่าว
ทั้งนี้ รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปารานานั้นเคยเป็นทะเลทรายมาก่อน และซากไดโนเสาร์ที่หลงเหลืออยู่นั้น บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์เวสเปอร์ซอรัสนั้นสามารถปรับตัวเข้ากับลักษณะของภูมิอากาศในพื้นที่นั้นได้เป็นอย่างดี โดยไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กนี้เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ90ล้านปีก่อน
ยังมีไดโนเสาร์สปีชีส์อื่นๆ อีกที่ถูกค้นพบในพื้นที่เดียวกันนี้ และตามที่นักวิทยาศาสตร์ระบุ การค้นพบครั้งล่าสุดนี้ต้องจุดกระแสให้มีการศึกษาทางด้านบรรพชีวินวิทยาในพื้นที่มากขึ้น
“พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์มากแต่มีการสำรวจน้อยมาก ซึ่งมั่นใจได้ว่าการสำรวจจะนำมาซึ่งข่าวใหญ่ๆ ให้แก่โลกบรรพชีวินวิทยา” นิวริเดส มาร์ตินส์ (Neurides Martins) จากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาแห่งครูไซโรดูเอิสเตกล่าว
ที่มา https://mgronline.com/science/detail/9620000062933
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น