วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2020

 

สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2020

มนุษย์ถ้ำ

ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายรวมทั้งการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมของมนุษย์รวมถึงการศึกษาค้นคว้าวิชาการต่าง ๆ ต้องสะดุดหยุดลง แต่เหตุที่ไม่คาดฝันเหล่านั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งเหล่านักโบราณคดี ที่ยังคงค้นพบสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจจากอดีตและเรื่องราวน่าทึ่งมากมาย ซึ่งบีบีซีไทยได้รวบรวมมาฝากกันอย่างจุใจเช่นเคย

มนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัลฉลาดกว่าที่เราคิด

เคยเชื่อกันว่ามนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์อย่างเรา ๆ เมื่อเกือบสองแสนปีก่อนนั้น ไม่สู้จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมนัก ทั้งน่าจะมีพฤติกรรมคล้ายกับสัตว์มากกว่ามนุษย์ที่มีอารยธรรม ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ยุคใหม่ที่ฉลาดกว่า จนต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ จำนวนมากที่ขัดแย้งกับความเข้าใจข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้มีการค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกของนีแอนเดอร์ทัลเพิ่มเติม ที่ถ้ำชานิดาร์ (Shanidar) บริเวณเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นที่สองแล้วที่ยืนยันว่านีแอนเดอร์ทัลรู้จักประกอบพิธีฝังศพ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1975 มีรายงานเกี่ยวกับโครงกระดูกของนีแอนเดอร์ทัลที่พบเป็นร่างแรกในถ้ำแห่งเดียวกัน ซึ่งรายงานระบุว่าร่างนี้มีเศษดินปนเกสรดอกไม้ติดอยู่ด้วย ทำให้มีผู้เสนอแนวคิดว่านีแอนเดอร์ทัลอาจวางดอกไม้ในหลุมศพของคนตาย ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความคิดเรื่องจิตวิญญาณและการรู้จักประกอบพิธีกรรมให้ผู้วายชนม์

ส่วนโครงกระดูกร่างที่สองที่เพิ่งพบในปีนี้มีอายุเก่าแก่ 70,000 ปี และเป็นของชายวัยกลางคนที่ถูกจัดท่าทางให้คล้ายกับกำลังนอนพักผ่อนอย่างสบาย โดยมีการงอแขนซ้ายให้หนุนศีรษะและวางแขนขวาพาดไว้บนลำตัว บริเวณตรงหัวนอนยังมีหินที่คล้ายกับใช้เป็นหมอนวางอยู่ด้วย ซึ่งแสดงถึงการตั้งใจฝังศพอย่างประณีตบรรจง

ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมนักโบราณคดีของฝรั่งเศสก็เพิ่งเผยแพร่ผลการศึกษาโครงกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลวัยเด็ก อายุเก่าแก่ 41,000 ปี ซึ่งมีหลักฐานหลายด้านทั้งทางธรณีวิทยา การวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ และร่องรอยสารชีวโมเลกุลบ่งชี้ว่า เด็กคนนี้ถูกฝังหลังเสียชีวิตทันทีอย่างรวดเร็วและประณีต ในหลุมที่ขุดด้วยฝีมือของมนุษย์

เศษเชือกถักเก่าแก่มีความยาวราว 6.2 มิลลิเมตร กว้าง 0.5 มิลลิเมตร
คำบรรยายภาพ,

เศษเชือกถักเก่าแก่มีความยาวราว 6.2 มิลลิเมตร กว้าง 0.5 มิลลิเมตร

นอกจากหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่านีแอนเดอร์ทัลรู้จักประกอบพิธีศพแล้ว ทีมนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยานานาชาติยังค้นพบเศษเชือกถักโบราณอายุเก่าแก่ 50,000 ปี ในถ้ำซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของนีแอนเดอร์ทัลทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสด้วย

เส้นใยของเชือกถักดังกล่าวทำจากเปลือกไม้สน มีร่องรอยการถักโดยแบ่งเส้นใยออกเป็นกลุ่ม รวมทั้งมีการบิดและถักเส้นใยแต่ละกลุ่มให้เป็นเกลียวในทิศทางที่เป็นแบบแผนแน่นอน ซึ่งแสดงว่ามนุษย์โบราณเผ่าพันธุ์นี้เข้าใจแนวคิดทางคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เช่นการนับจำนวน การจับคู่ และเซต (Set) ทำให้มีความสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ซับซ้อน ในระดับที่ต้องใช้สติปัญญาขั้นสูงได้

โฉมหน้าใหม่ของมนุษย์ยุคน้ำแข็ง

ปี 2020 ถือว่าเป็นปีทองแห่งการค้นพบทางโบราณคดีในยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด (last ice age) ซึ่งเผยถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น ท่ามกลางลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อกว่าหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว

ทางเข้าถ้ำ Chiquihuite บนภูเขาทางตอนกลางของเม็กซิโก
คำบรรยายภาพ,

ทางเข้าถ้ำ Chiquihuite บนภูเขาทางตอนกลางของเม็กซิโก

ใครจะเชื่อว่าป่าฝนเขตร้อนอย่างแอมะซอน เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคน้ำแข็ง ซึ่งอยู่อาศัยร่วมกับบรรดาสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ ที่คนปัจจุบันไม่เคยได้พบเห็น โดยภาพชีวิตที่แปลกตาเช่นนี้ถูกถ่ายทอดลงบนหน้าผาความยาวถึงเกือบ 13 กิโลเมตร ในรูปแบบของภาพศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยดินแดง

ภาพเขียนอายุเก่าแก่ 11,800 - 12,600 ปีนี้ อยู่ในเขตแดนประเทศโคลอมเบีย ประกอบด้วยรูปสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่นช้างโบราณ "มาสโตดอน" (mastodon), สลอธยักษ์ (giant sloth), ม้ายุคน้ำแข็ง และสัตว์มีงวงที่มีกีบเท้า 3 กีบ รวมทั้งภาพสัตว์รูปทรงเหมือนงู กวาง และนก

นักโบราณคดีผู้ศึกษาภาพเขียนบนหน้าผาดังกล่าวบอกว่า งานศิลปะโบราณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยุคน้ำแข็งออกล่าและใช้ชีวิตร่วมกับบรรดาสัตว์ยักษ์ ซึ่งปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วได้อย่างไร

แหล่งที่มาของดินแดงซึ่งมนุษย์ในยุคนั้นใช้สร้างงานศิลปะ ใช้ทาผิวเพื่อไล่แมลง และใช้ประกอบพิธีกรรม ถูกค้นพบในปีนี้อีกเช่นกันที่ถ้ำใต้น้ำแห่งหนึ่งในคาบสมุทรยูคาตันของเม็กซิโก โดยนักโบราณคดีพบร่องรอยการก่อไฟตั้งแคมป์ในถ้ำเพื่อทำเหมืองดินแดง รวมทั้งพบหลุมขุดเจาะเก่า เครื่องมือหินที่ใช้ขุด และหินที่ทำเป็นสัญลักษณ์บอกทิศทางในถ้ำมืดอีกด้วย

คาดว่ามีมนุษย์เข้าไปอาศัยในเครือข่ายถ้ำใต้พิภพของคาบสมุทรยูคาตันตั้งแต่ราว 12,000 ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบซากโครงกระดูกมนุษย์ในถ้ำหลายแห่ง แต่ในช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อราว 8,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นและเอ่อท่วมถ้ำที่เป็นเหมืองดินแดงจนต้องจมมิดอยู่ใต้น้ำ

นักโบราณคดีคาดว่าภาพสัตว์เหล่านี้น่าจะถูกเขียนขึ้นเมื่อราว 11,800 - 126,000 ปีที่แล้ว
คำบรรยายภาพ,

นักโบราณคดีคาดว่าภาพสัตว์เหล่านี้น่าจะถูกเขียนขึ้นเมื่อราว 11,800 - 126,000 ปีที่แล้ว

สำหรับการค้นพบแห่งปีที่น่าตื่นเต้นที่สุดของยุคน้ำแข็งในทวีปอเมริกา ได้แก่การพบหลักฐานที่ชี้ว่า บรรพบุรุษของชนพื้นเมืองอเมริกันได้อพยพเข้ามาอาศัยใน "โลกใหม่" ตั้งแต่ 33,000 ปีก่อน ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดกันไว้ถึง 15,000 ปี

มีการขุดพบโบราณวัตถุซึ่งเป็นเครื่องมือหินของมนุษย์เกือบ 2,000 ชิ้น ที่ถ้ำ Chiquihuite บนภูเขาสูงทางตอนกลางของเม็กซิโก โดยเครื่องมือหินบางชิ้นสามารถตรวจสอบหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีได้กว่าสามหมื่นปี แต่ไม่พบซากโครงกระดูกหรือร่องรอยดีเอ็นเอของมนุษย์ในถ้ำแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ คำถามที่ว่ามนุษย์ยุคใหม่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาได้อย่างไรและเมื่อใดนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าคนจากพื้นที่แถบไซบีเรีย ได้เดินทางข้ามสะพานแผ่นดินเบริงเจีย (Beringia land bridge) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในยุคน้ำแข็ง เข้ามาอาศัยในทวีปอเมริกาเป็นกลุ่มแรก

แต่ดูเหมือนหลักฐานที่พบล่าสุดจะชี้ว่า คนกลุ่มที่ทิ้งเครื่องมือหินไว้ในถ้ำ Chiquihuite จะเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เดินทางมาถึงก่อนล่วงหน้ากว่าหมื่นปี และอาจอพยพโดยใช้วิธีล่องเรือหรือแพเลาะมาตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มากกว่าจะเดินข้ามสะพานแผ่นดินซึ่งในยุคนั้นอาจยังมีสภาพภูมิประเทศเป็นหล่มโคลนที่เดินได้ลำบาก

คำบรรยายวิดีโอ,

พบเหมืองโบราณของมนุษย์ยุคน้ำแข็งในถ้ำใต้น้ำที่เม็กซิโก

เลเซอร์สำรวจ LIDAR เผยอารยธรรมน่าพิศวงแห่งอเมริกากลางก่อนยุคโคลัมบัส

เทคโนโลยีที่ช่วยในการค้นหาซากอารยธรรมกลางป่าลึก เช่นที่กัมพูชาและภูมิภาคอเมริกากลางในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับเลเซอร์สำรวจ LIDAR ซึ่งในปีนี้ได้สร้างผลงานเด่นอีกเช่นเคย โดยได้ช่วยให้นักโบราณคดีค้นพบซากศาสนสถานอารยธรรมมายาเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

การสแกนด้วยเลเซอร์ทำให้พบโครงสร้างยกพื้นสูงขนาดใหญ่ รวมทั้งพบรูปสลักหมูป่าจากการขุดค้น
คำบรรยายภาพ,

การสแกนด้วยเลเซอร์ทำให้พบโครงสร้างยกพื้นสูงขนาดใหญ่ รวมทั้งพบรูปสลักหมูป่าจากการขุดค้น

ร่องรอยของโครงสร้างยกพื้นสูงขนาดใหญ่และแท่นบูชา ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล ถูกค้นพบในฟาร์มเลี้ยงวัวแห่งหนึ่งของเมืองทาบาสโก ประเทศเม็กซิโก ตรงบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศกัวเตมาลา

แม้โครงสร้างของวิหารและแท่นประกอบพิธีกรรมนี้จะคล้ายคลึงกับศาสนสถานของชาวโอลเม็ก (Olmec) ซึ่งเป็นผู้สร้างอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอเมริกากลาง แต่ผลวิเคราะห์จากการขุดค้นชี้ว่า ไม่พบร่องรอยการก่อสร้างตามคำสั่งของชนชั้นนำ เช่นรูปสลักของราชาตามแบบอารยธรรมโอลเม็กแต่อย่างใด

นักโบราณคดีพบเพียงรูปสลักหินปูนเป็นตัวหมูป่าในวิหารแห่งนี้ ซึ่งชี้ว่าศาสนสถานดังกล่าวอาจสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนมากกว่า อันสะท้อนถึงสภาพสังคมที่ไม่แบ่งแยกชนชั้นมากนักในสมัยนั้น

ภาพสแกนด้วยเลเซอร์เผยให้เห็นการจัดเรียงตัวของหมู่บ้านคล้ายหน้าปัดนาฬิกาหรือดวงอาทิตย์
คำบรรยายภาพ,

ภาพสแกนด้วยเลเซอร์เผยให้เห็นการจัดเรียงตัวของหมู่บ้านคล้ายหน้าปัดนาฬิกาหรือดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ การยิงเลเซอร์สำรวจ LIDAR จากเฮลิคอปเตอร์ ยังเผยให้เห็นร่องรอยของ "หมู่บ้านเนินดิน" ยุคโบราณ ที่สร้างขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 13-17 ในป่าแอมะซอนอีกด้วย ซึ่งกลุ่มของหมู่บ้าน 36 แห่งนี้ ซุกซ่อนตัวอยู่ในดงไม้หนาทึบไร้ผู้คนอยู่อาศัย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐอากรีในประเทศบราซิล

ความพิเศษของกลุ่มหมู่บ้านที่ตั้งรายล้อมเนินดินจำนวนมาก ก็คือการจัดเรียงตัวเป็นวงกลมคล้ายหน้าปัดนาฬิกา โดยมีถนนคู่สองสายออกจากหมู่บ้านทางทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมกับหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งถนนแบบนี้มองดูคล้ายกับเข็มบอกเวลาของนาฬิกาด้วย

หมู่บ้านบางแห่งมีถนนเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านหลายสาย ทำให้เมื่อมองจากที่สูงลงมาแล้ว จะดูคล้ายกับภาพลายเส้นรูปดวงอาทิตย์ฉายแสงไม่มีผิด

นักโบราณคดีเชื่อว่าการวางโครงสร้างของเครือข่ายหมู่บ้านเช่นนี้ สะท้อนแนวคิดทางจักรวาลวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้เป็นต้นแบบการปกครองสังคมที่ไม่มีลำดับชั้นอย่างชัดเจนของคนพื้นเมืองอเมริกากลาง ในยุคก่อนการมาถึงของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในช่วงศตวรรษที่ 15

มัมมี่ล็อตใหม่และการปลอมแปลงเงินตราที่มีมาก่อนคริสตกาล

หน่วยงานด้านโบราณคดีของอียิปต์ ยังคงเดินหน้าขุดค้นสุสานโบราณซักคารา (Saqqara) ในบริเวณใกล้กับมหาพีระมิดแห่งกีซาต่อไป ทำให้ในปีนี้ได้ค้นพบร่างมัมมี่และวัตถุโบราณชิ้นใหม่ ๆ เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก

ร่างมัมมี่ที่พบล่าสุดเป็นนักบวชและขุนนางระดับสูงของวิหารบูชาเทพีบาสเทต
คำบรรยายภาพ,

ร่างมัมมี่ที่พบล่าสุดเป็นนักบวชและขุนนางระดับสูงของวิหารบูชาเทพีบาสเทต

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการขุดค้นที่เก็บศพซึ่งมีลักษณะเป็นปล่องลึกลงไปใต้ดินและเก็บโลงบรรจุศพซ้อนกันเป็นชั้น ๆ โดยโลงไม้ใส่ร่างมัมมี่ที่พบในครั้งนี้มีมากถึง 100 โลง ล้วนทาด้วยสีสันสดใส คาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,500 ปี

นักโบราณคดีคาดว่าปล่องเก็บศพนี้เป็นของยุคราชวงศ์ที่ 26 โดยเป็นของตระกูลหรือสมาชิกที่สังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการเปิดและปิดที่เก็บศพหลายครั้งเพื่อฝังโลงศพเพิ่มลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเต็ม ส่วนร่างมัมมี่ที่พบในครั้งนี้เป็นนักบวชและขุนนางระดับสูงของวิหารบูชาเทพีบาสเทต (Bastet) ผู้มีเศียรเป็นแมว

นอกจากมัมมี่ที่มีให้ขุดค้นอย่างเหลือเฟือแล้ว ในปีนี้ยังมีการค้นพบสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรอียิปต์โบราณ อย่างการปลอมแปลงเงินตราในยุคก่อนคริสตกาลอีกด้วย

นักโบราณคดีของอิสราเอลพบว่า แท่งเงินจำนวนหนึ่งที่พบในแหล่งขุมทรัพย์โบราณหลายแห่งทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นสิ่งใช้แทนเงินตราเมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เป็นของปลอม

แท่งเงินปลอมซึ่งขุดพบที่อิสราเอลและภูมิภาคทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
คำบรรยายภาพ,

แท่งเงินปลอมซึ่งขุดพบที่อิสราเอลและภูมิภาคทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

แม้พื้นผิวภายนอกจะดูเหมือนเงินแท้ แต่ผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่า มีการผสมทองแดงและโลหะราคาถูกลงไปด้วยในสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษถึง 60% จนทำให้แท่งเงินนี้มีมูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกันมาก

คาดว่าการปลอมแปลงดังกล่าวเกิดจากการขาดแคลนแร่เงินในพื้นที่แถบคานาอัน (Canaan) ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมปลายยุคสัมฤทธิ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอียิปต์โบราณ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนจะมีการประดิษฐ์เหรียญเงินขึ้นใช้ครั้งแรกในโลกที่ภูมิภาคเอเชียไมเนอร์หลายร้อยปี

อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีชี้ว่าการปลอมแปลงเงินตราในครั้งนั้น น่าจะริเริ่มขึ้นโดยชนชั้นนำชาวอียิปต์โบราณที่เป็นผู้ปกครองภูมิภาคดังกล่าวนั่นเอง เนื่องจากต้องเผชิญกับความปั่นป่วนในช่วงสิ้นสุดยุคอาณาจักรใหม่ และการล่มสลายของอาณาจักรใกล้เคียงอีกหลายแห่ง ด้วยเหตุความแห้งแล้งและภัยธรรมชาติที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้ต่อมาเกิดการปลอมเงินตราอย่างแพร่หลายในหมู่สามัญชนทั่วไปด้วย

รุ่งอรุณแห่งอารยธรรมยุโรป

วัตถุโบราณชิ้นหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักและจดจำกันได้เป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้นรูปสลักหินขนาดเล็กที่ดูเหมือนตุ๊กตาหญิงอ้วนเปลือยไร้ใบหน้า หรือ "วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาความอุดมสมบูรณ์ เพศหญิง และการให้กำเนิดในหมู่มนุษย์ยุคหินเก่า โดยผู้สร้างรูปสลักหินชนิดนี้กระจายกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายพื้นที่ของยุโรป เมื่อราว 25,000 ปีก่อน

ภาพสแกนด้วยเลเซอร์เผยให้เห็นตำแหน่งที่ตั้งของสุสานโรมิวลุสในกรุงโรม (พื้นที่สีส้ม)
คำบรรยายภาพ,

ภาพสแกนด้วยเลเซอร์เผยให้เห็นตำแหน่งที่ตั้งของสุสานโรมิวลุสในกรุงโรม (พื้นที่สีส้ม)

ล่าสุดเพิ่งมีการตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟว่า หญิงอ้วนที่มีหน้าอก พุง และสะโพกใหญ่โตเกินจริงนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสิ่งใดกันแน่ ซึ่งการตีความแบบเดิมว่าเธอคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และความงามแบบอิ่มเอิบที่ผู้คนใฝ่ฝันหานั้นอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการมีรูปร่างกลมใหญ่แบบผู้ป่วยโรคอ้วนในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นนั้น

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯและยูเออี จึงได้ทดลองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงของรูปสลักหญิงอ้วนเปลือยไร้ใบหน้าที่พบในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปลายยุคหินเก่า กับตำแหน่งที่พบในภูมิภาคต่าง ๆ ของยุโรป จนทำให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกำลังย่างเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง สามารถส่งผลต่อจินตนาการของผู้ประดิษฐ์รูปสลักในสมัยนั้นได้เป็นอย่างมาก

ยิ่งถิ่นฐานที่อาศัยของช่างแกะสลักอยู่ใกล้กับธารน้ำแข็งที่ขยายตัวคืบคลานเข้ามาหามากขึ้นเท่าใด รูปสลักหญิงอ้วนก็จะยิ่งถูกขยายสัดส่วนให้ดูอวบอิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงจิตสำนึกที่แสวงหาความอยู่รอดจากภาวะอากาศหนาวเย็นและการขาดแคลนอาหาร ทำให้รูปสลักของหญิงอ้วนหรือหญิงตั้งครรภ์เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงอุดมคติของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนโบราณนั่นเอง

ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ของรูปสลักวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ
คำบรรยายภาพ,

ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ของรูปสลักวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ

การค้นพบเกี่ยวกับสังคมบรรพกาลยุคแรกเริ่มของยุโรปที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือการยืนยันสถานที่ตั้งสุสานของ "โรมิวลุส" (Romulus) บุคคลในตำนานปรัมปราที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ก่อตั้งกรุงโรม โดยเทคนิคการสแกนด้วยเลเซอร์ได้เผยให้เห็นสุสานใต้ดินในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์โรมันฟอรัม (Roman Forum) ซึ่งมีที่บรรจุศพขนาดเล็กและแท่นบูชารูปวงกลมตั้งอยู่

นักโบราณคดีคาดว่า สุสานที่สร้างขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาลดังกล่าว ไม่เคยถูกใช้บรรจุศพของผู้ใด แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รำลึกและบูชาวีรบุรุษโรมิวลุส ซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามสุสานแห่งนี้นับว่ามีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับที่นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันโบราณระบุไว้ว่า บรรพบุรุษของพวกเขาก่อตั้งกรุงโรมขึ้นเมื่อ 753 ปีก่อนคริสตกาล

แผนที่กายวิภาคศาสตร์และงานศิลป์เก่าแก่ที่สุดของจีน

การค้นพบที่โดดเด่นในส่วนของอารยธรรมตะวันออกในปีนี้ ได้แก่แผนที่กายวิภาคศาสตร์ (anatomical atlas) เล่มเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังคงหลงเหลือต้นฉบับอยู่ โดยแผนที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของตำราแพทย์จีนยุคราชวงศ์ฮั่นอายุ 2,200 ปี ที่เขียนด้วยน้ำหมึกบนผ้าไหม

ตำราแพทย์ยุคราชวงศ์ฮั่นที่เขียนด้วยน้ำหมึกบนผ้าไหม
คำบรรยายภาพ,

ตำราแพทย์ยุคราชวงศ์ฮั่นที่เขียนด้วยน้ำหมึกบนผ้าไหม

ตำราดังกล่าวอธิบายถึงตำแหน่งและลักษณะของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสตร์การฝังเข็มรักษาโรค โดยใช้การลากแนวเส้นสมมติผ่านจุดสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าเส้นเหล่านี้คือทางเดินของลมปราณ (ชี่) มากกว่าจะเป็นอวัยวะอย่างเส้นเลือดหรือเส้นเอ็นจริง ๆ

ก่อนหน้านี้วงการแพทย์ในโลกตะวันตกมองว่า ศาสตร์การฝังเข็มไม่มีพื้นฐานความรู้ทางกายวิภาคที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ แต่การค้นพบตำราข้างต้นท้าทายความเชื่อดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าแพทย์แผนจีนรุ่นแรก ๆ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของร่างกายมนุษย์ไว้จริง ดังที่ปรากฏในพงศาวดารฮั่นซูว่ามีการผ่าศพอาชญากรเพื่อให้แพทย์ได้ศึกษา

รูปสลักนกซึ่งแกะจากกระดูกเผาของจีน มีอายุเก่าแก่ 13,500 ปี
คำบรรยายภาพ,

รูปสลักนกซึ่งแกะจากกระดูกเผาของจีน มีอายุเก่าแก่ 13,500 ปี

ในปีนี้ยังมีการค้นพบผลงานศิลปะรูปทรงสามมิติ ซึ่งนับว่าเก่าแก่ที่สุดของจีนและของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเป็นรูปสลักนกเกาะคอนตัวจ้อยที่สูงเพียงครึ่งนิ้ว แต่มีอายุมากถึง 13,500 ปี แกะจากกระดูกสัตว์ที่เผาจนดำเกรียม

ทีมนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสซึ่งพบรูปสลักดังกล่าวที่มณฑลเหอหนานของจีนบอกว่า ช่างแกะสลักมีฝีมือละเอียดประณีตทั้งยังใช้เทคนิคหลายแบบในการสรรค์สร้างนกขนาดจิ๋วที่งดงามตัวนี้ขึ้น

ที่มา https://www.bbc.com/thai/features-55364174



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น