นักฟิสิกส์เยอรมันพบวิธีใหม่สร้าง "วาร์ปไดรฟ์" ข้ามจักรวาลด้วยความเร็วเหนือแสง
นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันเผยวิธีใหม่ในการสร้าง "วาร์ปไดรฟ์" (warp drive) หรือเครื่องยนต์ที่สามารถบิดงอปริภูมิ-เวลา (space-time) ให้เราเดินทางข้ามจักรวาลได้ในพริบตา ซึ่งเครื่องยนต์นี้สามารถเร่งความเร็วให้เหนือแสงได้ โดยไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์แต่อย่างใด
ดร. อีริก เลนท์ซ จากมหาวิทยาลัยเกิตทิงเงน (Göttingen University) ของเยอรมนี ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Classical and Quantum Gravity ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าได้พบวิธีคำนวณสมการของไอน์สไตน์ในแบบที่ทำให้เกิดฟอง (bubble) ชนิดพิเศษมาห่อหุ้มเครื่องยนต์วาร์ปไดรฟ์ ซึ่งภายในฟองนี้ปริภูมิ-เวลาจะขยายตัวด้วยความไวยิ่งกว่าแสง เหมือนกับเอกภพส่วนที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้กำลังขยายตัวด้วยอัตราเร่งเดียวกันในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ แนวคิดการสร้างวาร์ปไดรฟ์ที่เดินทางเร็วกว่าแสงไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะผิดกฎธรรมชาติตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป หากต้องการจะเดินทางได้เร็วกว่าแสง ก็ต้องแก้สมการของไอน์สไตน์ให้เกิดผลเป็น "พลังงานลบ" (negative energy) หรือพลังงานที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าความว่างเปล่าของห้วงอวกาศเสียก่อน
แม้พลังงานลบนี้อาจเกิดขึ้นได้ในการทดลองเชิงฟิสิกส์ควอนตัม แต่ก็ยังไม่สามารถรวมตัวกันมากพอที่จะเกิดเป็น "มวลลบ" (negative mass) ซึ่งนำมาใช้งานจริงสำหรับการสร้างวาร์ปไดรฟ์ได้
ฟองของโซลิตอนที่เป็นไปได้สำหรับวาร์ปไดรฟ์แบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ดร. เลนท์ซได้เสนอวิธีคำนวณที่จะทำให้เกิดฟองของ "โซลิตอน" (Soliton) หรือคลื่นเดี่ยวทรงสภาพแบบที่มีความเร็วสูงอย่างยิ่ง มาห่อหุ้มเครื่องยนต์วาร์ปไดรฟ์เอาไว้ ซึ่งคลื่นนี้จะสามารถคงรูปร่างและพลังงานของมันเอาไว้ได้ ขณะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วคงที่แบบเหนือแสง
การใช้ประโยชน์จากโซลิตอนทำให้วาร์ปไดรฟ์ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานลบที่ยังค้นหาไม่พบ นอกจากนี้ ฟองของโซลิตอนยังทำหน้าที่เป็นเกราะปกป้องยานอวกาศจากแรงไทดัลมหาศาลที่จะต้องเผชิญขณะเดินทางข้ามห้วงจักรวาลอีกด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้เดินทางข้ามห้วงอวกาศแบบอื่น ๆ วาร์ปไดรฟ์ความเร็วเหนือแสงจะเดินทางจากดวงอาทิตย์ไปถึงพร็อกซิมา เซนทอรี ดาวฤกษ์นอกระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุดได้ภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี ในขณะที่เครื่องยนต์ขับดันพลังนิวเคลียร์จะใช้เวลาราว 100 ปี และจรวดขับดันด้วยเชื้อเพลิงเคมีจะต้องใช้เวลายาวนาน 50,000 - 70,000 ปี
แผนภาพเปรียบเทียบเวลาที่ใช้เดินทางของเครื่องยนต์แบบต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์สู่พร็อกซิมา เซนทอรี
"พลังงานที่ใช้สำหรับวาร์ปไดรฟ์ซึ่งเร็วเหนือแสงนี้ หากยานอวกาศมีรัศมีกว้างราว 100 เมตร จะต้องใช้เชื้อเพลิงมหาศาลในอันดับหลายร้อยเท่าของมวลดาวพฤหัสบดี" ดร. เลนท์ซ กล่าว
"เราจึงจะต้องทำให้วาร์ปไดรฟ์นี้ประหยัดพลังงานลงมาได้อีกราว 30 อันดับขนาด เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบฟิชชันสมัยใหม่"
งานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในเวลาใกล้เคียงกับต้นแบบวาร์ปไดรฟ์ที่มีความเป็นไปได้ทางกายภาพชิ้นแรก ซึ่งนำเสนอโดย ดร.อเล็กซี บอบริก นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดน เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในวารสาร Classical and Quantum Gravity เช่นเดียวกัน โดยต้นแบบวาร์ปไดรฟ์ที่สร้างได้จริงดังกล่าวมีความเร็วต่ำกว่าแสง และอาศัยพลังงานจากสนามความโน้มถ่วงแรงสูง
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เจ้าของแนวคิดใหม่ทั้งสองคนได้ติดต่อกัน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาวาร์ปไดรฟ์ความเร็วเหนือแสงที่สร้างขึ้นได้จริงแล้ว
ดร. เลนท์ซ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ข้อเสนอของผมทำให้การเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสงออกห่างจากการเป็นแค่ทฤษฎี แล้วขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงทางวิศวกรรมมากขึ้น ขั้นต่อไปคือหาทางลดระดับพลังงานมหาศาลที่ต้องใช้ ให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตได้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น