อียิปต์ค้นพบ “นครทองคำที่สาบสูญ” ใกล้หุบเขากษัตริย์ เก่าแก่กว่า 3,000 ปี
ซากเมืองโบราณขนาดใหญ่อายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ตั้งอยู่ใกล้กับหุบเขากษัตริย์ที่เมืองลักซอร์
ทีมนักโบราณคดีของอียิปต์ประกาศการค้นพบ "นครทองคำที่สาบสูญ" (Lost Golden City) ซึ่งเป็นซากเมืองโบราณขนาดใหญ่อายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ตั้งอยู่ใกล้กับหุบเขากษัตริย์ที่เมืองลักซอร์
เมืองที่มีฉายาว่านครทองคำแห่งนี้ มีชื่อจริงในบันทึกประวัติศาสตร์ว่า "อาเตน" (Aten) ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของสุริยเทพ ถือเป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาในอียิปต์ และคาดว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง การค้า และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในยุคของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งปกครองอียิปต์ระหว่าง 1,391 - 1,353 ปีก่อนคริสตกาล
ก่อนหน้านี้ทีมนักโบราณคดีจากต่างชาติหลายคณะ พยายามค้นหานครทองคำดังกล่าวมาหลายปีแต่ก็ไม่พบ จนกระทั่งทีมนักโบราณคดีของอียิปต์ได้ลงมือขุดค้นที่เมืองลักซอร์ ตรงบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว จึงได้พบซากอิฐดินดิบที่ก่อเป็นกำแพงเมืองและอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ เบ็ตซี ไบรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า "การค้นพบนครทองคำที่เคยสาบสูญไปครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญโดดเด่นเป็นอันดับสอง รองจากการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษก่อนเท่านั้น"
มีการค้นพบโบราณวัตถุล้ำค่าภายในซากเมืองเป็นจำนวนมาก
นครทองคำก่อตั้งโดยฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์
"การค้นพบนี้จะช่วยให้เรามีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ ในยุคที่อาณาจักรกำลังรุ่งเรืองมั่งคั่งถึงขีดสุด ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง" ศ. ไบรอันกล่าว
ดร. ซาฮี ฮาวาสส์ ผู้นำทีมนักโบราณคดีของอียิปต์บอกว่า ถนนหนทางในเมืองนี้เรียงรายไปด้วยบ้านเรือนที่ปลูกติดกันแน่นขนัด ภายในบ้านยังพบห้องต่าง ๆ อยู่ในสภาพดี มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนมาก รวมทั้งมีเศษอาหารอย่างเนื้อแห้งหลงเหลืออยู่ด้วย
ดร. ซาฮี ฮาวาสส์ ขณะตรวจดูหีบพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุน
ทีมนักโบราณคดียังค้นพบเครื่องประดับ, เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีสวยงาม, เครื่องรางด้วงดำหรือแมลงสการับ รวมทั้งอิฐดินดิบที่ประทับตราพระนาม "อาเมนโฮเทปที่ 3" ไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของการทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องโลหะและเครื่องแก้วทั่วเมือง
เครื่องรางรูปด้วงดำหรือแมลงสการับ
เครื่องปั้นดินเผาที่มีตัวอักษรเขียนอยู่ ช่วยให้ทราบถึงอายุของเมืองแห่งนี้ได้
บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า หลังสิ้นรัชสมัยของอาเมนโฮเทปที่ 3 แล้ว ผู้สืบทอดบัลลังก์ของพระองค์ซึ่งรวมถึงฟาโรห์ตุตันคามุนผู้เป็นหลานปู่ และฟาโรห์อาย (Ay) ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากตุตันคามุน ยังคงได้ใช้นครทองคำแห่งนี้เป็นที่ตั้งพระราชวังและศูนย์กลางการปกครองต่อไปอีกหลายปี
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นปริศนาว่าเหตุใดฟาโรห์อัคเคนาเตน โอรสของอาเมนโฮเทปที่ 3 จึงต้องโยกย้ายนครหลวงจากนครทองคำอันรุ่งเรือง ไปยังเมืองอามาร์นาในทะเลทรายระหว่างที่ยังครองราชย์อยู่ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าการค้นพบซากเมืองโบราณในครั้งนี้ จะช่วยไขคำตอบให้กับปริศนาสำคัญในประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น