ไก่ป่าสีแดง (Red junglefowl) เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่คนเลี้ยงกันทุกวันนี้
ทีมนักโบราณคดีจากหลายสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส เผยการค้นพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่บ่งชี้ว่า ไก่ป่าอาจถูกมนุษย์นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์จนกลายมาเป็นไก่บ้านครั้งแรก ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคหินใหม่กับยุคสำริด ระหว่าง 1,650 - 1,250 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยคิดกันไว้หลายพันปี
หลักฐานดังกล่าวคือกระดูกไก่บ้านอายุเก่าแก่ 3,670 ปี ที่พบในหลุมฝังศพของแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โดยหลักฐานนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่ทราบกันอยู่เดิมแล้วว่า ไก่ป่าสีแดง (Red junglefowl) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่ผู้คนทั่วโลกเลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้
รายงานวิจัย 2 ชิ้น ว่าด้วยต้นกำเนิดของไก่บ้าน ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร PNAS และ Antiquity ฉบับล่าสุด หลังมีการตรวจสอบอายุของซากกระดูกไก่ที่พบตามแหล่งโบราณคดีทั่วโลก 600 แห่ง ใน 89 ประเทศเสียใหม่ ทำให้พบว่ามีการคาดคะเนอายุของกระดูกไก่โบราณจากแถบยูเรเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือผิดพลาด อันเป็นที่มาของความเข้าใจผิดก่อนหน้านี้ว่า ภูมิภาคดังกล่าวคือแหล่งกำเนิดของไก่บ้านที่มีอายุเก่าแก่ราว 6,000 - 10,000 ปี
ที่มา https://www.bbc.com/thai/international-61734266
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น