วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ส่งกลิ่นเหม็นราวกับ "ไข่เน่า"

 

พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ส่งกลิ่นเหม็นราวกับ "ไข่เน่า"

นาซาพบว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้ที่ได้ทำการศึกษามีชั้นบรรยากาศที่เป็นกลุ่มเมฆหมอกไอร้อนสีน้ำเงินโคบอลต์

ที่มาของภาพ,ROBERTO MOLAR CANDANOSA/JOHNS HOPKINS UNIVERISTY

คำบรรยายภาพ,นาซาพบว่า ดาวเคราะห์ที่ได้ทำการศึกษานี้มีชั้นบรรยากาศที่เป็นกลุ่มเมฆหมอกไอร้อนสีน้ำเงินโคบอลต์
  • Author,แมดดี มอลลอย
  • Role,ผู้สื่อข่าวภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์

จากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ล่าสุด พบดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่อยู่ไกลโพ้นที่รู้จักกันดีว่า มีสภาพอากาศเลวร้าย และยังมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่าอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ เพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ HD 189733 b ซึ่งมีอุณหภูมิที่แผดเผาและการตกตะกอนคล้ายกับฝนแก้ว (ฝนตกเป็นแก้วกระจก)

ผู้วิจัยเรื่องนี้ยังค้นพบอีกว่า ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ HD 189733 b ซึ่งทำให้มีการปลดปล่อยกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมา ทั้งนี้ก๊าซดังกล่าวยังพบได้บนดาวพฤหัสบดี และเป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่ร่างกายปล่อยออกมาระหว่างการผายลมด้วย

นี่ถือเป็นการตรวจพบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ครั้งแรกบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

"หากว่าจมูกของคุณสามารถดมกลิ่นได้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส คุณก็จะได้กลิ่นคล้ายไข่เน่าในชั้นบรรยากาศ" ดร.กวงเหว่ย ฟู นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ หัวหน้าคณะศึกษาเรื่องนี้เล่าให้ฟัง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์

ที่มาของภาพ,NASA / GSFC

คำบรรยายภาพ,กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature

แม้ว่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จะเป็นหนึ่งในก๊าซที่เป็นตัวชี้วัดว่า ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลอาจจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ก็ตาม แต่นักวิจัยก็ไม่ได้กำลังค้นหาเบาะแสของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ เนื่องจากมันมีลักษณะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ เหมือนกับดาวพฤหัสบดี และยังมีอุณหภูมิสูงเกินไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการค้นพบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์บนดาวเคราะห์ดวงนี้ถือเป็นก้าวย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจการก่อตัวของดาวเคราะห์

ในปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ ที่พบบนดาวเคราะห์อันไกลโพ้น และยังช่วยให้บรรดานักดาราศาสตร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย

"กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ถือว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกม และยังปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ด้วย มันมีศักยภาพไม่ต่างจากที่หลายคนคิด และบางครั้งก็ดีเกินกว่าที่คาดไว้ในบางเรื่องด้วยซ้ำ" ดร.ฟู กล่าว

ในอนาคต นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวมีแผนว่าจะใช้ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์มาใช้ในการศึกษาดาวเคราะห์เพิ่มเติมอีกด้วย

ที่มาhttps://www.bbc.com/thai/articles/c0w4ezxrd31o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น