เมื่อยาหลอนประสาทยุคโบราณ สอนบทเรียนให้การแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่
![PIC](https://ichef.bbci.co.uk/ace/ws/640/cpsprodpb/65dc/live/dd469bc0-7235-11ef-b282-4535eb84fe4b.png.webp)
- เดวิด ค็อกซ์
- บีบีซีฟิวเจอร์
เมื่อ 16 ปีก่อน ในถ้ำแห่งหนึ่งของเทือกเขาแอนดีสทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโบลิเวีย ท่ามกลางเศษไม้และก้อนหินที่ปะปนกับมูลของตัวลามา นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งได้ค้นพบถุงหนังโบราณขนาดเล็ก ซึ่งเคยเป็นของหมอผีจากอารยธรรมติวานากู (Tiwanaku) จักรวรรดิโบราณที่เคยดำรงอยู่เมื่อกว่าพันปีที่แล้วในทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีส ก่อนการมาถึงของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก
ภายในถุงหนังดังกล่าวบรรจุยาโบราณหลายชนิด รวมทั้งบ้องสูบยาและช้อนแบนสำหรับบดเมล็ดสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของสารเสพติดจำนวนมาก ตั้งแต่โคเคนไปจนถึงไซโลซิน (psilocin) หนึ่งในสารหลอนประสาทจากเห็ดเมา และองค์ประกอบพื้นฐานของชาอายาวัสกา (ayahuasca)
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ถุงหนังของหมอผียุคโบราณนี้คือหน้าต่างบานพิเศษ ที่จะเปิดช่องให้เราได้มองเห็นและสามารถทำความเข้าใจ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมโบราณและการใช้ยาหลอนประสาทที่ทรงพลังชนิดต่าง ๆ โดยประเด็นนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่จำนวนไม่น้อย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สารหลอนประสาทหรือไซคีเดลิก (psychedelic) อย่างเช่น เมทแอมเฟตามีน (MDMA) แอลเอสดี (LSD) ไซโลไซบิน (psilocybin) และเคตามีน (Ketamine) กำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ในโลกตะวันตก เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นยากลุ่มใหม่ ที่จะมาช่วยแก้วิกฤติสุขภาพจิตที่นับวันจะรุนแรงขึ้น โดยอาจใช้บำบัดรักษาอาการทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, การเสพติดยาและสารอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งอาจช่วยเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้ป่วย “โรคสิ้นหวัง” เช่น ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย, ติดสุรา, และใช้ยาเกินขนาดด้วย โดยอาจใช้สารหลอนประสาทเหล่านี้ควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด ผ่านการพูดคุยให้คำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
บทบาทหน้าที่ของสารหลอนประสาทในอารยธรรมโบราณนั้น มีมากกว่าการเป็นเพียงยารักษาโรค โดยดร. ยูเรีย เซลิดเวน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ บอกว่า “สารหลอนประสาท” เป็นคำเรียกขานที่วัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่สร้างขึ้น แต่ชุมชนชาวพื้นเมืองในซีกโลกใต้ต่างรู้จักมันในชื่อ “ยาจิตวิญญาณ” (spirit medicine) โดยมีการใช้ยานี้ในกิจกรรมที่หลากหลาย และผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมานานหลายศตวรรษแล้ว
กับการทำจิตบำบัดตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเยียวยาบาดแผลทางใจ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการคิดวิเคราะห์ตรวจสอบตนเองได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แต่เรื่องนี้ ดร. เซลิดเวนกลับมองว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการใช้สารหลอนประสาทเพื่อบำบัดผู้ป่วยจิตเวชในโลกตะวันตก กับการประกอบพิธีกรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกากลางและซีกโลกใต้
ในขณะที่การแพทย์ยุคใหม่ของโลกตะวันตก มุ่งเน้นการบำบัดรักษาเป็นรายบุคคล แต่พิธีกรรมที่ใช้เห็ดเมาของชนพื้นเมือง กลับมีรากฐานอยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกวิญญาณและธรรมชาติรอบตัว “ธรรมเนียมโบราณเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเชื่อว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับจิตสำนึกในธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราเสมอ ซึ่งจิตสำนึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีปฏิกิริยาตอบสนองได้ เมื่อเราใช้ยาจิตวิญญาณ นั่นเท่ากับเราสื่อสารและฟื้นฟูภาวะสมดุลกับโลกดังกล่าว ดังนั้นบริบทของการใช้สารหลอนประสาทจึงไม่ได้อยู่ที่สุขภาพส่วนบุคคล แต่เป็นสุขภาวะของทุกสิ่งโดยรอบรวมทั้งตัวเราอย่างเป็นองค์รวม”
ศ. การ์เซีย-โรเมอู แสดงความเห็นด้วยกับมุมมองของดร. เซลิดเวน โดยบอกว่าชนพื้นเมืองหลายกลุมในโคลอมเบีย บราซิล และเม็กซิโก ใช้สารหลอนประสาทเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ หรือเพื่อเข้าถึงภพภูมิอื่น ๆ นอกเหนือจากโลกมนุษย์ รวมทั้งเพื่อสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโลกของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
การศึกษาวิจัยเอกสารว่าด้วยการแพทย์ของชาวแอซเท็ก ทำให้กอนซาเลซ โรเมโร ค้นพบว่าการบรรเลงดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีกลอง มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมที่ใช้สารหลอนประสาทมายาวนาน เนื่องจากเสียงกลองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเต้นของหัวใจ และช่วยให้ผู้คนเข้าถึง “ภวังค์” (trance) ที่กระตุ้นการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมนี้ว่า “หมอผี” (shaman) ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่มาจากมุมมองของเจ้าอาณานิคม ในขณะที่ชนพื้นเมืองหลายกลุ่มเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวว่า “ผู้ขับขานบทเพลง”
กอนซาเลซ โรเมโร กล่าวเสริมว่า “สารอัลคาลอยด์บางอย่างที่พบในสารหลอนประสาทซึ่งนิยมใช้กันมายาวนาน เช่นเห็ดเมาที่มีสารไซโลไซบิน หรือสารจำพวกแอลเอสเอ (LSA) ที่คล้ายกับแอลเอสดีในต้น Rivea corymbosa มีความสามารถในการสร้างเสียงหลอนประสาทหู ทำให้หูแว่วหรือเกิดการได้ยินที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ นั่นหมายความว่าคุณสามารถแต่งเพลง หรือได้ยินเสียงเพลงแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครในโลกได้ยินได้ฟังมาก่อน แม้จะไม่ได้ผ่านการฝึกฝนทักษะทางดนตรีมาเลยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ชาวแอซเท็กจึงถือว่า เห็ดเมามีความเกี่ยวข้องกับเทพโซชิพิลลี (Xochipilli) เทพเจ้าแห่งบทเพลง ดนตรี ความบันเทิงเริงใจ และความอุดมสมบูรณ์”
แม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับการใช้สารหลอนประสาทบำบัดรักษาโรคของชนพื้นเมือง ก็ยังแตกต่างจากแนวคิดของการแพทย์แผนปัจจุบันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ โดยกอนซาเลซ โรเมโร บอกว่าพิธีกรรมบำบัดอาจมีการอดอาหาร หรืองดเว้นความสัมพันธ์ทางเพศบางอย่างด้วย เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งข้อห้ามนี้แล้วแต่ผู้ประกอบพิธีกรรมจะกำหนดให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่ม โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละคราว บางครั้งอาจไม่มีการบรรเลงดนตรีเลย แต่เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบยามค่ำคืน โดยขังสัตว์เลี้ยงอย่างไก่และสุนัขไว้ที่อื่นเพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวน
แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีกรรมเพื่อรักษาโรคหรืออาการใด ๆ ตั้งแต่การบรรเทาความเจ็บปวดไปจนถึงการลดไข้สูง จุดเน้นก็ยังคงอยู่ที่การฟื้นฟูภาวะสมดุลให้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่การรักษาคนไข้เป็นรายบุคคล “ชาววิซาริกา (Wixarika) ต่างเล่าขานถึงตำนานการใช้กระบองเพชรเพโยเต (Peyote) รักษาโรคโลหิตจางให้ผู้คนทั้งชุมชน หลังเกิดการระบาดของไข้มาลาเรียครั้งใหญ่ ที่ทำให้จำนวนประชากรลดลงและคนที่เหลือรอดมีสุขภาพอ่อนแอ เมื่อราว 500 ปีก่อน” อาวัว ซามูเอล ผู้นำการประกอบพิธีกรรมบำบัดโรคจากชนเผ่าชิซิเมซาของเม็กซิโก และผู้บริหารโครงการใช้พืชเป็นยา “รากไม้ของเทพเจ้า” (Root of the Gods ) กล่าว
![พิธีกรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์แบบดั้งเดิม ยังคงมีอยู่ในยุคปัจจุบัน](https://ichef.bbci.co.uk/ace/ws/640/cpsprodpb/0ce0/live/5785ed50-7236-11ef-b282-4535eb84fe4b.png.webp)
กอนซาเลซ โรเมโร อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นเพราะการเกิดโรคระบาดในชุมชน หมายถึงว่ามีการกระทำล่วงละเมิดเทพเจ้าเกิดขึ้นในสังคมนั้นแล้ว ซึ่งทำให้เทพเจ้าลงโทษมนุษย์ด้วยโรคร้ายที่แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว “การประกอบพิธีกรรมด้วยสารหลอนประสาท คือหนทางที่จะฟื้นฟูกอบกู้จิตวิญญาณกลับคืนมา ในแง่นี้สมุฏฐานวิทยา (aetiology) หรือแนวคิดว่าด้วยมูลเหตุของโรค แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างมาก เพราะความเจ็บป่วยบางอย่างนั้นเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ เช่นนายพรานออกล่าสังหารสัตว์มากเกินความจำเป็น หรือความโลภในการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่บันยะบันยัง”
แม้ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาหลอนประสาทในโลกตะวันตกก้าวหน้าไปอย่างมาก จนคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 แต่ดร. เซลิดเวน และคณะนักวิจัยที่มีเชื้อสายชนพื้นเมือง แสดงความกังวลผ่านบทความที่พวกเขาเขียนขึ้นว่า ความคิดเห็นและรากฐานทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมในการใช้ยาชนิดนี้ ไม่ถูกนำไปพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้สารหลอนประสาทในวงการแพทย์แผนตะวันตก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultural appropriation) ที่หยิบฉวยหรือลอกเลียนแต่เพียงบางส่วนของวัฒนธรรมอื่นมาใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทขึ้นได้
ตัวอย่างเช่นการดำเนินงานของ “อาศรม” หรือสถานบำบัดด้วยสารหลอนประสาทในโลกตะวันตก ที่ใช้แนวทางแบบเดียวกับพิธีกรรมของชนพื้นเมือง อาจคิดค่าบริการถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ในขณะที่ผู้ประกอบพิธีกรรมชาวพื้นเมืองโดยทั่วไป ได้ค่าตอบแทนเพียง 2 - 150 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังตั้งคำถามว่า การบำบัดโรคจิตเวชด้วยสารหลอนประสาทแบบชนพื้นเมืองนั้น จะใช้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพและไม่มีข้อเสียตามมาจริงหรือไม่ โดยจูลส์ อีแวนส์ นักวิจัยสารหลอนประสาทจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งกรุงลอนดอน ชี้ว่าประสบการณ์ทางจิตที่เลวร้ายอาจเกิดขึ้นระหว่างการบำบัดรักษาได้ เพราะกระบวนการทั้งหมดนั้นแปลกแยกแตกต่างจากวัฒนธรรมฆราวาสนิยม (secular culture) ของชาวตะวันตกยุคใหม่ ที่ไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ทางศาสนาหรือจิตวิญญาณเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างมาก
“ในขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งทวีปอเมริกา ใช้พืชที่มีสารหลอนประสาทมานานหลายศตวรรษ ทำให้พวกเขามีความรู้และแผนที่ชี้ทางเกี่ยวกับสภาวะจิตที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีความรู้ลึกซึ้งเป็นอย่างดี เกี่ยวกับการผันแปรของจิตสำนึกในขั้นต่าง ๆ แต่คนในสังคมฆราวาสนิยมยุคใหม่ กลับไม่รู้อะไรในเรื่องทางจิตวิญญาณเหล่านี้เลย ทำให้บางคนช็อกและสับสนงุนงงกับสิ่งที่ได้พบเห็น โดยไม่สามารถตีความประสบการณ์นั้นให้เข้ากับโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมของตนเองได้ ความสับสนในแง่ของอัตถิภาวะหรือการดำรงอยู่ของตัวตนนี้ อาจคงอยู่นานหลายเดือนหรือหลายปี และคนที่ออกมาจากพิธีกรรมดังกล่าวอาจไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป” อีแวนส์กล่าวอธิบาย
ดร. เซลิดเวน กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ความผิดพลาดใหญ่หลวงและข้อจำกัดหนึ่งของการแพทย์แผนตะวันตก คือการมองสารหลอนประสาทว่าเป็นแค่ยาชนิดหนึ่ง หรือเป็นเพียงสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ซึ่งพวกเขาสามารถนำไปจดสิทธิบัตรสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ทั้งที่จริงแล้วพลังในการบำบัดรักษาของสารหลอนประสาท อยู่ที่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับชุมชน และการสร้างประสบการณ์ทางจิตแบบรวมหมู่ “มันไม่ใช่โมเลกุลของสารในตัวยาที่รักษาโรคจิตเวชให้หาย แต่เป็นการสร้างโครงข่ายของสายสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่านั้นมาก”
“ในโลกตะวันตก เรามักจะเห็นว่าสุขภาวะของบุคคลดีขึ้นหลังได้รับยา แต่นั่นไม่ใช่การบำบัดรักษาที่ยั่งยืน เพราะปราศจากบริบทของชุมชนในการสัมผัสประสบการณ์จากยาที่หลอนจิตประสาท ด้วยเหตุนี้การใช้สารหลอนประสาทเพื่อบำบัดจิตแบบตะวันตก จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้คนผู้นั้นเสพติดยาชนิดใหม่ได้ เพราะพวกเขาจะกลับมาใช้สารหลอนประสาทอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเสพประสบการณ์ทางจิตน่าพิศวงที่แปลกประหลาดและตีความไม่ออกเลย”
ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/cg4qy5e3dvro
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น