วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ดวงดาวที่ไม่มีกลางวันกลางคืน อาจให้กำเนิด “เอเลียน” ที่มีวิวัฒนาการต่างจากมนุษย์

 

ดวงดาวที่ไม่มีกลางวันกลางคืน อาจให้กำเนิด “เอเลียน” ที่มีวิวัฒนาการต่างจากมนุษย์

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

  • Author,มาเรียน โคเฮน
  • Role,บีบีซี ฟิวเจอร์

การที่โลกมีวงจรของช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เกื้อหนุนต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่ดาวดวงอื่นในห้วงจักรวาลที่มีศักยภาพในการให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิตเช่นกัน อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างวันและคืนที่ชัดเจนเหมือนบนโลกของเราก็เป็นได้

หลายคนอาจเคยสงสัยว่า สิ่งมีชีวิตต่างดาวหรือที่นิยมเรียกขานกันว่า “เอเลียน” นั้น ต้องพักผ่อนนอนหลับเหมือนคนเราบ้างหรือไม่ เพราะแม้มนุษย์จะต้องนอนเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายในเวลากลางคืน แต่งานวิจัยทางชีวดาราศาสตร์หลายชิ้นกลับชี้ว่า ดาวเคราะห์หลายดวงที่สามารถจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตนั้น ไม่มีวงจรของช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน แบบโลกของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการได้

อย่างไรก็ตาม บนโลกของเราเองก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในความมืดมิดไร้แสงสว่างตลอดเวลา เช่นสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ ใต้ดิน หรือก้นทะเลลึก ซึ่งสัตว์เหล่านี้สามารถจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ปราศจากนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) นั้นเป็นอย่างไร

นักชีวดาราศาสตร์ประมาณการว่า มีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาจอาศัยอยู่ได้ถึงหลายพันล้านดวงในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา สาเหตุที่ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสูงถึงขนาดนี้ เป็นเพราะกาแล็กชีของเรามีดาวฤกษ์อยู่มากมายมหาศาลระหว่าง 100,000 ล้าน – 400,000 ล้านดวงเลยทีเดียว

ในบรรดาดาวฤกษ์เหล่านี้มีดาวแคระแดงที่มวลและอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์อยู่ถึง 70% ซึ่งดาวฤกษ์ประเภทนี้รู้จักกันในชื่อว่า “ดาวแคระชนิดเอ็ม” (M-dwarf) ผลการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ระบุว่า 41% ของดาวแคระชนิดเอ็มมีดาวเคราะห์บริวารโคจรอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต (Goldilocks zone) ซึ่งหมายความว่าดาวเคราะห์เหล่านี้มีอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยรักษาน้ำให้คงอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาวได้

ที่มาhttps://www.bbc.com/thai/articles/cx2kzng8995o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น