วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2024

 

สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2024

(ซ้าย) แผ่นทองคำสำหรับสวมทับทรวงอก มีลวดลายเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิด (ขวา) ตุ๊กตาทองคำขนาดเล็กที่มีหูและจมูกเหมือนค้างคาว

ที่มาของภาพ,JULIA MAYO/FUNDACION EL CANO

คำบรรยายภาพ,(ซ้าย) แผ่นทองคำสำหรับสวมทับทรวงอก มีลวดลายเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิด (ขวา) ตุ๊กตาทองคำขนาดเล็กที่มีหูและจมูกเหมือนค้างคาว

ในรอบปี 2024 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีการค้นพบทางโบราณคดีอันน่าทึ่งมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุใหม่ ๆ ของอารยธรรมเก่าแก่ในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ รวมทั้งการค้นพบที่น่าตื่นตะลึง อย่างเช่นกำแพงหินอายุกว่าหมื่นปีของนายพรานปลายยุคน้ำแข็ง ที่ยังจมอยู่ใต้ทะเลบอลติกด้วย

หมอผีทองคำแห่งปานามา

ที่อุทยานโบราณคดีเอลกานโญ (El Caño Archaeological Park) ในทางตอนกลางของประเทศปานามา ทีมนักโบราณคดีได้ทำการขุดค้น จนพบหลุมศพที่น่าตื่นตะลึงซึ่งมีอายุเก่าแก่ 1,250 ปี โดยร่างของผู้วายชนม์ที่นอนอยู่ในหลุมศพนั้น ถูกห่อหุ้มด้วยเครื่องประดับทองคำเต็มตัว ทั้งยังมีรูปปั้นทองคำขนาดเล็กและของมีค่าจำนวนมากฝังรวมอยู่ด้วย

บริเวณที่พบหลุมศพดังกล่าวเป็นสุสานโบราณริมฝั่งแม่น้ำของชาวโกเกลย์ (Coclé) โดยศพที่ถูกฝังในท่านอนคว่ำหน้านั้น นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหมอผี (shaman) ระดับผู้นำคนสำคัญ ซึ่งมีหน้าที่ทำการปกครอง รวมทั้งบำบัดรักษาโรคทางกายและความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ ให้กับชนเผ่าโบราณในแถบอเมริกากลาง

ที่ข้างกายของหมอผีคนดังกล่าว ทีมนักโบราณคดียังพบท่อสั้น ๆ ที่ทำจากกระดูกกวาง ซึ่งในตอนแรกพวกเขาคิดว่าอาจเป็นเครื่องดนตรีจำพวกขลุ่ย แต่ในเวลาต่อมาผลการตรวจสอบโดยละเอียดกลับชี้ว่า มันคือบ้องสำหรับสูดดมควันจากการเผาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค ซึ่งการสูดดมควันสมุนไพรนี้ยังใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยหมอผีจะเต้นรำหรือทำสมาธิไปด้วยเพื่อให้ตกภวังค์หรือเกิดภาพหลอน จนสามารถสื่อสารกับเหล่าวิญญาณและเทพเจ้าได้

รูปทรงและลวดลายที่ปรากฏบนรูปปั้นขนาดเล็กและแผ่นประดับทรวงอก ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิด เช่นค้างคาว, ฉลาม, ผีเสื้อ, นก, และจระเข้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าชาวโกเกลย์เลือกใช้สัตว์ที่มีองค์ประกอบของธาตุทั้งสี่ คือดิน,น้ำ,ลม,ไฟ มาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกหลังความตาย

MICHAL GRABOWSKI

คำบรรยายภาพ,ภาพจำลองจากฝีมือศิลปิน แสดงให้เห็นแนวกำแพงสำหรับใช้ล่ากวางเรนเดียร์ในช่วงยุคหินกลาง

ทีมนักโบราณคดีใต้น้ำของเยอรมนี ค้นพบโครงสร้างฝีมือมนุษย์โบราณที่พื้นทะเลบอลติก โดยเป็นซากกำแพงหินสูง 1 เมตร และยาวเกือบ 1 กิโลเมตร จมอยู่ใต้น้ำทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 20 เมตร ห่างจากชายฝั่งทางภาคเหนือของเยอรมนีออกไปราว 10 กิโลเมตร

กำแพงดังกล่าวก่อจากหินที่เรียงซ้อนกันกว่า 1,600 ก้อน โดยหินแต่ละก้อนมีขนาดเล็กพอที่คนผู้หนึ่งจะยกมาวางได้ด้วยตนเอง ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้สูงที่กำแพงนี้จะถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ในยุคหินกลาง (Mesolithic period) ซึ่งตรงกับช่วงปลายยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดเมื่อราว 10,000 ปีก่อน

ในตอนนั้นสถานที่ตั้งของกำแพงหินยังไม่ถูกน้ำทะเลท่วมทับ ผลการตรวจสอบทางธรณีวิทยายังพบว่า ในอดีตบริเวณดังกล่าวอาจเป็นป่าพรุหรือพื้นที่ริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งแนวของกำแพงหินถูกสร้างให้ขนานไปกับหนองบึงหรือทะเลสาบนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แท้จริงกำแพงดังกล่าวอาจมีไว้เพื่อต้อนฝูงสัตว์ป่าให้เข้ามาติดกับในที่แคบ ก่อนที่เหล่านายพรานที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่จะลงมือล่าได้โดยสะดวก

เนื่องจากสังคมมนุษย์ในช่วงปลายยุคน้ำแข็งยังไม่รู้จักการทำเกษตรกรรม จึงเป็นไปได้ว่าเหล่านายพรานในสังคมที่ยังล่าสัตว์และหาเก็บของป่าเลี้ยงชีพ ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างกำแพงนี้ขึ้น เพื่อทำการล่าครั้งใหญ่ตามฤดูกาลปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งนักโบราณคดีคาดว่าสัตว์ป่าที่ถูกล่าน่าจะเป็นสัตว์มีกีบเท้าขนาดใหญ่ อย่างเช่น "กวางเรนเดียร์ยูเรเชีย" (Eurasian reindeer) ซึ่งเริ่มอพยพขึ้นมาในทางตอนกลางของยุโรป เพราะอากาศที่อบอุ่นขึ้นทำให้เริ่มมีป่าหนาทึบขึ้นในบริเวณนั้น

กระดูกนักสำรวจยุคศตวรรษที่ 19 เผยเรื่องราวดำมืดในเขตอาร์กติก

แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในเขตอาร์กติก บนเกาะคิงวิลเลียมส์ในประเทศแคนาดา

ที่มาของภาพ,D.STENTON

คำบรรยายภาพ,แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในเขตอาร์กติก บนเกาะคิงวิลเลียมส์ในประเทศแคนาดา

โศกนาฏกรรมของเรือหลวงเอเรบัส (HMS Erebus) และเรือหลวงเทอร์เรอร์ (HMS Terror) ซึ่งออกเดินทางจากอังกฤษในปี 1845 เพื่อสำรวจ "ช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ" (Northwest Passage) ในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็งของเขตอาร์กติก โดยมุ่งหวังจะหาเส้นทางเดินเรือลัดที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าลงเอยด้วยการจบชีวิตของลูกเรือทั้งหมด 134 คน เนื่องจากความอดอยากหิวโหยและอากาศหนาวเย็น เพราะเรือติดอยู่ในแผ่นน้ำแข็งหนาจนเคลื่อนที่ต่อไปไม่ได้

จนกระทั่งเกือบสองร้อยปีต่อมา นักโบราณคดียังคงค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวอยู่อย่างไม่ลดละ โดยในช่วงทศวรรษ 1990 มีการค้นพบร่างของผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้าย 13 ราย บนเกาะคิงวิลเลียมส์ของประเทศแคนาดา พร้อมทั้งพบบันทึกลงวันที่ 25 เม.ย. 1848 ที่เขียนโดยกัปตันเจมส์ ฟิตซ์เจมส์ แห่งเรือหลวงเอเรบัส ซึ่งระบุว่าพวกเขาตัดสินใจทิ้งเรือที่ติดอยู่ในผืนน้ำแข็งมานานนับปี หลังจากมีผู้เสียชีวิตไปมากมาย

ผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้ายตัดสินใจเดินเท้าลงไปทางทิศใต้ แต่พวกเขาก็ไปได้ไม่ไกลนักก่อนจะจบชีวิตลงทั้งหมด ร่องรอยตัดเฉือนที่พบบนโครงกระดูกของลูกเรือ 4 ราย แสดงว่าพวกเขาจำต้องกินเนื้อมนุษย์จากร่างของเพื่อนเพื่อประทังชีวิต

ล่าสุดในปีนี้ ผลการตรวจสอบพันธุกรรมบนโครโมโซมวาย (Y) ชี้ว่ากระดูกขากรรไกรล่างชิ้นหนึ่งที่มีรอยบากจากของมีคม ซึ่งนักโบราณคดีพบบนเกาะคิงวิลเลียมส์นั้น แท้จริงเป็นของกัปตันฟิตซ์เจมส์ผู้เขียนบันทึกฉบับสุดท้าย แสดงว่าสถานะผู้นำการสำรวจ ไม่ได้ช่วยปกป้องเขาให้พ้นภัยจากสัญชาตญาณดิบของคนที่กำลังหิวโหยและดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่ทว่าการกินเนื้อเพื่อนในครั้งนี้ กลับช่วยต่อลมหายใจให้ลูกเรือที่เหลืออยู่ได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ที่ทา https://www.bbc.com/thai/articles/cj0rn203p08o

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ดวงดาวที่ไม่มีกลางวันกลางคืน อาจให้กำเนิด “เอเลียน” ที่มีวิวัฒนาการต่างจากมนุษย์

 

ดวงดาวที่ไม่มีกลางวันกลางคืน อาจให้กำเนิด “เอเลียน” ที่มีวิวัฒนาการต่างจากมนุษย์

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

  • Author,มาเรียน โคเฮน
  • Role,บีบีซี ฟิวเจอร์

การที่โลกมีวงจรของช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เกื้อหนุนต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่ดาวดวงอื่นในห้วงจักรวาลที่มีศักยภาพในการให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิตเช่นกัน อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างวันและคืนที่ชัดเจนเหมือนบนโลกของเราก็เป็นได้

หลายคนอาจเคยสงสัยว่า สิ่งมีชีวิตต่างดาวหรือที่นิยมเรียกขานกันว่า “เอเลียน” นั้น ต้องพักผ่อนนอนหลับเหมือนคนเราบ้างหรือไม่ เพราะแม้มนุษย์จะต้องนอนเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายในเวลากลางคืน แต่งานวิจัยทางชีวดาราศาสตร์หลายชิ้นกลับชี้ว่า ดาวเคราะห์หลายดวงที่สามารถจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตนั้น ไม่มีวงจรของช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน แบบโลกของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการได้

อย่างไรก็ตาม บนโลกของเราเองก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในความมืดมิดไร้แสงสว่างตลอดเวลา เช่นสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ ใต้ดิน หรือก้นทะเลลึก ซึ่งสัตว์เหล่านี้สามารถจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ปราศจากนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) นั้นเป็นอย่างไร

นักชีวดาราศาสตร์ประมาณการว่า มีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาจอาศัยอยู่ได้ถึงหลายพันล้านดวงในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา สาเหตุที่ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสูงถึงขนาดนี้ เป็นเพราะกาแล็กชีของเรามีดาวฤกษ์อยู่มากมายมหาศาลระหว่าง 100,000 ล้าน – 400,000 ล้านดวงเลยทีเดียว

ในบรรดาดาวฤกษ์เหล่านี้มีดาวแคระแดงที่มวลและอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์อยู่ถึง 70% ซึ่งดาวฤกษ์ประเภทนี้รู้จักกันในชื่อว่า “ดาวแคระชนิดเอ็ม” (M-dwarf) ผลการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ระบุว่า 41% ของดาวแคระชนิดเอ็มมีดาวเคราะห์บริวารโคจรอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต (Goldilocks zone) ซึ่งหมายความว่าดาวเคราะห์เหล่านี้มีอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยรักษาน้ำให้คงอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาวได้

ที่มาhttps://www.bbc.com/thai/articles/cx2kzng8995o

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567

โลกกำลังจะมี "มินิมูน" ดวงจันทร์ดวงที่สอง แต่จะอยู่กับเราแค่ช่วงสั้น ๆ

 

โลกกำลังจะมี "มินิมูน" ดวงจันทร์ดวงที่สอง แต่จะอยู่กับเราแค่ช่วงสั้น ๆ

Full Moon in dark sky

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,ดวงจันทร์ดวงใหม่นี้จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ที่เราคุ้นเคย
  • Author,แมดดีย์ มอลลอย
  • Role,บีบีซีแผนกข่าวสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า เหล่ามนุษยชาติเตรียมตัวรับความเซอร์ไพรส์จากจักรวาลในฤดูใบไม้ร่วงนี้ เพราะโลกกำลังจะมีดวงจันทร์ดวงที่สอง

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกำลังจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดและจะกลายเป็น "มินิมูน" (mini-moon) และจะกลายเป็นดวงจันทร์บริวารของโลกเป็นการชั่วคราว

มินิมูนจากอวกาศนี้จะปรากฏขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. เป็นเวลาสองสามเดือนก่อนที่จะหลุดออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย. นี้

น่าเสียดายที่ดวงจันทร์ดวงที่สองนี้จะมีขนาดเล็กและมืดเกินกว่าจะมองเห็นได้ เว้นแต่คุณจะมีกล้องโทรทรรศน์ระดับมืออาชีพเพื่อใช้ในการสังเกตการณ์

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณเส้นทางการโคจรของมันในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในบันทึกงานวิจัยของสมาคมดาราศาสตร์แห่งอเมริกา

ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า 2024 PT5 มาจากแถบดาวเคราะห์น้อยอาร์จูนา ซึ่งมีหินที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรที่ใกล้เคียงกับโลก

บางครั้ง ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้จะเข้าใกล้โลก โดยมาใกล้ถึง 2.8 ล้านไมล์ (4.5 ล้านกิโลเมตร)

ตามการศึกษาของนักวิจัย หากดาวเคราะห์น้อยเช่นนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ค่อนข้างช้า ประมาณ 2,200 ไมล์ต่อชั่วโมง (3,540 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แรงโน้มถ่วงของโลกก็จะสามารถดึงดูดได้มากพอที่จะจับดาวเคราะห์น้อยไว้อย่างชั่วคราว

และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้ ดาวเคราะห์น้อยดวงเล็กจะใช้เวลาประมาณสองเดือนในการโคจรรอบโลก

ดร.เจนนิเฟอร์ มิลลาร์ด นักดาราศาสตร์และผู้จัดรายการพอดแคสต์ Awesome Astronomy (แปลเป็นไทยว่า สุดยอดดาราศาสตร์) อธิบายกับรายการ Today ของบีบีซีว่า "มันจะไม่หมุนรอบโลกของเราอย่างสมบูรณ์ มันเพียงแค่ถูกวงโคจรของมันบิดเล็กน้อยจากโลกของเรา และจากนั้นมันก็จะเคลื่อนต่อไปตามเส้นทางของมัน"

ดาวเคราะห์น้อยนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ของโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,474 กิโลเมตร

เนื่องจากมันมีขนาดเล็กและทำจากหินทึบแสง จึงไม่สามารถมองเห็นได้จากพื้นโลก แม้จะใช้กล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ในบ้านก็ตาม

"กล้องโทรทรรศน์ระดับมืออาชีพสามารถจับภาพมันได้ ดังนั้นคุณจะสามารถเห็นภาพมากมายของจุดเล็ก ๆ ที่เคลื่อนผ่านดวงดาวด้วยความเร็วสูง" ดร.มิลลาร์ดกล่าว

มีการพบ "มินิมูน" มาก่อนแล้ว และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ยังไม่ถูกค้นพบ บางดวงก็กลับมาเยี่ยมเยียนโลกอีกครั้งด้วย เช่น ดาวเคราะห์น้อย 2022 NX1 ที่กลายเป็น "ดวงจันทร์ขนาดจิ๋ว" ในปี 1981 และอีกครั้งในปี 2022

ดังนั้นไม่ต้องกังวลหากคุณพลาดครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 จะกลับมาโคจรรอบโลกอีกครั้งในปี 2055

"เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบสุริยะของเรามีกิจกรรมมากแค่ไหน และยังมีสิ่งที่เรายังไม่ได้ค้นพบอีกมาก เพราะดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพิ่งถูกค้นพบในปีนี้เอง

"มีวัตถุหลายหมื่นหรือหลายแสนชิ้นที่เรายังไม่ได้ค้นพบ ดังนั้น ฉันคิดว่าสิ่งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าติดตามท้องฟ้ายามค่ำคืนอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามวัตถุเหล่านี้" ดร.มิลลาร์ดกล่าว



วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2567

เมื่อยาหลอนประสาทยุคโบราณ สอนบทเรียนให้การแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่

 

เมื่อยาหลอนประสาทยุคโบราณ สอนบทเรียนให้การแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่

PIC

ที่มาของภาพ,ALAMY

  • Author,เดวิด ค็อกซ์
  • Role,บีบีซีฟิวเจอร์

เมื่อ 16 ปีก่อน ในถ้ำแห่งหนึ่งของเทือกเขาแอนดีสทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโบลิเวีย ท่ามกลางเศษไม้และก้อนหินที่ปะปนกับมูลของตัวลามา นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งได้ค้นพบถุงหนังโบราณขนาดเล็ก ซึ่งเคยเป็นของหมอผีจากอารยธรรมติวานากู (Tiwanaku) จักรวรรดิโบราณที่เคยดำรงอยู่เมื่อกว่าพันปีที่แล้วในทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีส ก่อนการมาถึงของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก

ภายในถุงหนังดังกล่าวบรรจุยาโบราณหลายชนิด รวมทั้งบ้องสูบยาและช้อนแบนสำหรับบดเมล็ดสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของสารเสพติดจำนวนมาก ตั้งแต่โคเคนไปจนถึงไซโลซิน (psilocin) หนึ่งในสารหลอนประสาทจากเห็ดเมา และองค์ประกอบพื้นฐานของชาอายาวัสกา (ayahuasca)

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ถุงหนังของหมอผียุคโบราณนี้คือหน้าต่างบานพิเศษ ที่จะเปิดช่องให้เราได้มองเห็นและสามารถทำความเข้าใจ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมโบราณและการใช้ยาหลอนประสาทที่ทรงพลังชนิดต่าง ๆ โดยประเด็นนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่จำนวนไม่น้อย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สารหลอนประสาทหรือไซคีเดลิก (psychedelic) อย่างเช่น เมทแอมเฟตามีน (MDMA) แอลเอสดี (LSD) ไซโลไซบิน (psilocybin) และเคตามีน (Ketamine) กำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ในโลกตะวันตก เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นยากลุ่มใหม่ ที่จะมาช่วยแก้วิกฤติสุขภาพจิตที่นับวันจะรุนแรงขึ้น โดยอาจใช้บำบัดรักษาอาการทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, การเสพติดยาและสารอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งอาจช่วยเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้ป่วย “โรคสิ้นหวัง” เช่น ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย, ติดสุรา, และใช้ยาเกินขนาดด้วย โดยอาจใช้สารหลอนประสาทเหล่านี้ควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด ผ่านการพูดคุยให้คำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ

บทบาทหน้าที่ของสารหลอนประสาทในอารยธรรมโบราณนั้น มีมากกว่าการเป็นเพียงยารักษาโรค โดยดร. ยูเรีย เซลิดเวน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ บอกว่า “สารหลอนประสาท” เป็นคำเรียกขานที่วัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่สร้างขึ้น แต่ชุมชนชาวพื้นเมืองในซีกโลกใต้ต่างรู้จักมันในชื่อ “ยาจิตวิญญาณ” (spirit medicine) โดยมีการใช้ยานี้ในกิจกรรมที่หลากหลาย และผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมานานหลายศตวรรษแล้ว

กับการทำจิตบำบัดตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเยียวยาบาดแผลทางใจ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการคิดวิเคราะห์ตรวจสอบตนเองได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แต่เรื่องนี้ ดร. เซลิดเวนกลับมองว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการใช้สารหลอนประสาทเพื่อบำบัดผู้ป่วยจิตเวชในโลกตะวันตก กับการประกอบพิธีกรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกากลางและซีกโลกใต้

ในขณะที่การแพทย์ยุคใหม่ของโลกตะวันตก มุ่งเน้นการบำบัดรักษาเป็นรายบุคคล แต่พิธีกรรมที่ใช้เห็ดเมาของชนพื้นเมือง กลับมีรากฐานอยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกวิญญาณและธรรมชาติรอบตัว “ธรรมเนียมโบราณเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเชื่อว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับจิตสำนึกในธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราเสมอ ซึ่งจิตสำนึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีปฏิกิริยาตอบสนองได้ เมื่อเราใช้ยาจิตวิญญาณ นั่นเท่ากับเราสื่อสารและฟื้นฟูภาวะสมดุลกับโลกดังกล่าว ดังนั้นบริบทของการใช้สารหลอนประสาทจึงไม่ได้อยู่ที่สุขภาพส่วนบุคคล แต่เป็นสุขภาวะของทุกสิ่งโดยรอบรวมทั้งตัวเราอย่างเป็นองค์รวม”

ศ. การ์เซีย-โรเมอู แสดงความเห็นด้วยกับมุมมองของดร. เซลิดเวน โดยบอกว่าชนพื้นเมืองหลายกลุมในโคลอมเบีย บราซิล และเม็กซิโก ใช้สารหลอนประสาทเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ หรือเพื่อเข้าถึงภพภูมิอื่น ๆ นอกเหนือจากโลกมนุษย์ รวมทั้งเพื่อสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโลกของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว

การศึกษาวิจัยเอกสารว่าด้วยการแพทย์ของชาวแอซเท็ก ทำให้กอนซาเลซ โรเมโร ค้นพบว่าการบรรเลงดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีกลอง มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมที่ใช้สารหลอนประสาทมายาวนาน เนื่องจากเสียงกลองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเต้นของหัวใจ และช่วยให้ผู้คนเข้าถึง “ภวังค์” (trance) ที่กระตุ้นการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมนี้ว่า “หมอผี” (shaman) ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่มาจากมุมมองของเจ้าอาณานิคม ในขณะที่ชนพื้นเมืองหลายกลุ่มเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวว่า “ผู้ขับขานบทเพลง”

กอนซาเลซ โรเมโร กล่าวเสริมว่า “สารอัลคาลอยด์บางอย่างที่พบในสารหลอนประสาทซึ่งนิยมใช้กันมายาวนาน เช่นเห็ดเมาที่มีสารไซโลไซบิน หรือสารจำพวกแอลเอสเอ (LSA) ที่คล้ายกับแอลเอสดีในต้น Rivea corymbosa มีความสามารถในการสร้างเสียงหลอนประสาทหู ทำให้หูแว่วหรือเกิดการได้ยินที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ นั่นหมายความว่าคุณสามารถแต่งเพลง หรือได้ยินเสียงเพลงแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครในโลกได้ยินได้ฟังมาก่อน แม้จะไม่ได้ผ่านการฝึกฝนทักษะทางดนตรีมาเลยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ชาวแอซเท็กจึงถือว่า เห็ดเมามีความเกี่ยวข้องกับเทพโซชิพิลลี (Xochipilli) เทพเจ้าแห่งบทเพลง ดนตรี ความบันเทิงเริงใจ และความอุดมสมบูรณ์”

แม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับการใช้สารหลอนประสาทบำบัดรักษาโรคของชนพื้นเมือง ก็ยังแตกต่างจากแนวคิดของการแพทย์แผนปัจจุบันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ โดยกอนซาเลซ โรเมโร บอกว่าพิธีกรรมบำบัดอาจมีการอดอาหาร หรืองดเว้นความสัมพันธ์ทางเพศบางอย่างด้วย เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งข้อห้ามนี้แล้วแต่ผู้ประกอบพิธีกรรมจะกำหนดให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่ม โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละคราว บางครั้งอาจไม่มีการบรรเลงดนตรีเลย แต่เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบยามค่ำคืน โดยขังสัตว์เลี้ยงอย่างไก่และสุนัขไว้ที่อื่นเพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวน

แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีกรรมเพื่อรักษาโรคหรืออาการใด ๆ ตั้งแต่การบรรเทาความเจ็บปวดไปจนถึงการลดไข้สูง จุดเน้นก็ยังคงอยู่ที่การฟื้นฟูภาวะสมดุลให้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่การรักษาคนไข้เป็นรายบุคคล “ชาววิซาริกา (Wixarika) ต่างเล่าขานถึงตำนานการใช้กระบองเพชรเพโยเต (Peyote) รักษาโรคโลหิตจางให้ผู้คนทั้งชุมชน หลังเกิดการระบาดของไข้มาลาเรียครั้งใหญ่ ที่ทำให้จำนวนประชากรลดลงและคนที่เหลือรอดมีสุขภาพอ่อนแอ เมื่อราว 500 ปีก่อน” อาวัว ซามูเอล ผู้นำการประกอบพิธีกรรมบำบัดโรคจากชนเผ่าชิซิเมซาของเม็กซิโก และผู้บริหารโครงการใช้พืชเป็นยา “รากไม้ของเทพเจ้า” (Root of the Gods ) กล่าว

พิธีกรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์แบบดั้งเดิม ยังคงมีอยู่ในยุคปัจจุบัน

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,พิธีกรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์แบบดั้งเดิม ยังคงมีอยู่ในยุคปัจจุบัน

กอนซาเลซ โรเมโร อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นเพราะการเกิดโรคระบาดในชุมชน หมายถึงว่ามีการกระทำล่วงละเมิดเทพเจ้าเกิดขึ้นในสังคมนั้นแล้ว ซึ่งทำให้เทพเจ้าลงโทษมนุษย์ด้วยโรคร้ายที่แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว “การประกอบพิธีกรรมด้วยสารหลอนประสาท คือหนทางที่จะฟื้นฟูกอบกู้จิตวิญญาณกลับคืนมา ในแง่นี้สมุฏฐานวิทยา (aetiology) หรือแนวคิดว่าด้วยมูลเหตุของโรค แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างมาก เพราะความเจ็บป่วยบางอย่างนั้นเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ เช่นนายพรานออกล่าสังหารสัตว์มากเกินความจำเป็น หรือความโลภในการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่บันยะบันยัง”

แม้ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาหลอนประสาทในโลกตะวันตกก้าวหน้าไปอย่างมาก จนคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 แต่ดร. เซลิดเวน และคณะนักวิจัยที่มีเชื้อสายชนพื้นเมือง แสดงความกังวลผ่านบทความที่พวกเขาเขียนขึ้นว่า ความคิดเห็นและรากฐานทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมในการใช้ยาชนิดนี้ ไม่ถูกนำไปพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้สารหลอนประสาทในวงการแพทย์แผนตะวันตก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultural appropriation) ที่หยิบฉวยหรือลอกเลียนแต่เพียงบางส่วนของวัฒนธรรมอื่นมาใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทขึ้นได้

ตัวอย่างเช่นการดำเนินงานของ “อาศรม” หรือสถานบำบัดด้วยสารหลอนประสาทในโลกตะวันตก ที่ใช้แนวทางแบบเดียวกับพิธีกรรมของชนพื้นเมือง อาจคิดค่าบริการถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ในขณะที่ผู้ประกอบพิธีกรรมชาวพื้นเมืองโดยทั่วไป ได้ค่าตอบแทนเพียง 2 - 150 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังตั้งคำถามว่า การบำบัดโรคจิตเวชด้วยสารหลอนประสาทแบบชนพื้นเมืองนั้น จะใช้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพและไม่มีข้อเสียตามมาจริงหรือไม่ โดยจูลส์ อีแวนส์ นักวิจัยสารหลอนประสาทจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งกรุงลอนดอน ชี้ว่าประสบการณ์ทางจิตที่เลวร้ายอาจเกิดขึ้นระหว่างการบำบัดรักษาได้ เพราะกระบวนการทั้งหมดนั้นแปลกแยกแตกต่างจากวัฒนธรรมฆราวาสนิยม (secular culture) ของชาวตะวันตกยุคใหม่ ที่ไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ทางศาสนาหรือจิตวิญญาณเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างมาก

“ในขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งทวีปอเมริกา ใช้พืชที่มีสารหลอนประสาทมานานหลายศตวรรษ ทำให้พวกเขามีความรู้และแผนที่ชี้ทางเกี่ยวกับสภาวะจิตที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีความรู้ลึกซึ้งเป็นอย่างดี เกี่ยวกับการผันแปรของจิตสำนึกในขั้นต่าง ๆ แต่คนในสังคมฆราวาสนิยมยุคใหม่ กลับไม่รู้อะไรในเรื่องทางจิตวิญญาณเหล่านี้เลย ทำให้บางคนช็อกและสับสนงุนงงกับสิ่งที่ได้พบเห็น โดยไม่สามารถตีความประสบการณ์นั้นให้เข้ากับโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมของตนเองได้ ความสับสนในแง่ของอัตถิภาวะหรือการดำรงอยู่ของตัวตนนี้ อาจคงอยู่นานหลายเดือนหรือหลายปี และคนที่ออกมาจากพิธีกรรมดังกล่าวอาจไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป” อีแวนส์กล่าวอธิบาย

ดร. เซลิดเวน กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ความผิดพลาดใหญ่หลวงและข้อจำกัดหนึ่งของการแพทย์แผนตะวันตก คือการมองสารหลอนประสาทว่าเป็นแค่ยาชนิดหนึ่ง หรือเป็นเพียงสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ซึ่งพวกเขาสามารถนำไปจดสิทธิบัตรสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ทั้งที่จริงแล้วพลังในการบำบัดรักษาของสารหลอนประสาท อยู่ที่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับชุมชน และการสร้างประสบการณ์ทางจิตแบบรวมหมู่ “มันไม่ใช่โมเลกุลของสารในตัวยาที่รักษาโรคจิตเวชให้หาย แต่เป็นการสร้างโครงข่ายของสายสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่านั้นมาก”

“ในโลกตะวันตก เรามักจะเห็นว่าสุขภาวะของบุคคลดีขึ้นหลังได้รับยา แต่นั่นไม่ใช่การบำบัดรักษาที่ยั่งยืน เพราะปราศจากบริบทของชุมชนในการสัมผัสประสบการณ์จากยาที่หลอนจิตประสาท ด้วยเหตุนี้การใช้สารหลอนประสาทเพื่อบำบัดจิตแบบตะวันตก จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้คนผู้นั้นเสพติดยาชนิดใหม่ได้ เพราะพวกเขาจะกลับมาใช้สารหลอนประสาทอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเสพประสบการณ์ทางจิตน่าพิศวงที่แปลกประหลาดและตีความไม่ออกเลย”

ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/cg4qy5e3dvro

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เบาะแสสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอาจอยู่บนโลกของเรา

 

เบาะแสสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอาจอยู่บนโลกของเรา

Nasa/JPL-Caltech

ที่มาของภาพ,NASA/JPL-CALTECH

คำบรรยายภาพ,ภาพวาดจากจินตนาการของศิลปินเกี่ยวกับหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ที่กำลังเคลื่อนเข้าหาดาวอังคาร
  • Author,ไมเคิล มาร์แชลล์
  • Role,บีบีซีฟิวเจอร์

ในการทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดลึกลงไปใต้พื้นผิวของดาวอังคาร มนุษย์อาจสามารถศึกษาได้จากสิ่งมีชีวิตบนโลกที่อาศัยอยู่ในจุดที่ลึกที่สุดและเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ของเรา

ดาวอังคารไม่ได้เป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์สีแดงเท่านั้น แต่ยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีน้ำอีกด้วย เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นักวิจัยชาวสหรัฐฯ รายงานหลักฐานของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นของเหลวลึกลงไปในเปลือกหินของดาวเคราะห์ดวงนี้

ข้อมูลนี้มาจากยานสำรวจอินไซต์ (Mars Insight Lander) ของนาซา ซึ่งบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนดาวอังคารมากกว่า 1,300 ครั้งในระยะเวลา 4 ปี นักวิจัยที่นำโดยวาชาน ไรท์ นักธรณีฟิสิกส์จากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้ศึกษาคลื่นไหวสะเทือน (seismic waves) ที่ไปถึงยานสำรวจและสรุปว่าคลื่นเหล่านั้นได้ผ่านชั้นหินเปียก แม้ว่าพื้นผิวของดาวอังคารจะเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง แต่ข้อมูลของไรท์บ่งชี้ว่า มีปริมาณน้ำจำนวนมากถูกขังอยู่ในชั้นหินที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 11.5-20 กิโลเมตร

“ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้อง” คาเรน ลอยด์ นักจุลชีววิทยาใต้ผิวโลกจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลิสกล่าว “ฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวงการได้เลยทีเดียว”

การค้นพบน้ำใต้ดินบนดาวอังคารเปิดโอกาสให้การมีชีวิตใต้ดินบนดาวอังคารเกิดขึ้นได้ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่ามีชีวมณฑล (biosphere) ขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่ลึกภายในโลกของเราเอง และตอนนี้ดูเหมือนว่าอาจเป็นเช่นเดียวกันกับดาวอังคาร ชีวิตบนดาวอังคาร หากมีอยู่จริง อาจอยู่ใต้ดินก็ได้

ชีวมณฑลลึกใต้พื้นผิว

ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา นักชีววิทยาได้สะสมหลักฐานว่ายังคงมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินบนโลกของเรา นักวิจัยพยายามขุดเจาะลึกลงไปในพื้นทะเลและทวีปต่าง ๆ และพบกับสิ่งมีชีวิตในตะกอนที่ถูกฝังลึก แม้แต่ในชั้นและคริสตัลของหินแข็ง

สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในความมืดนี้เป็นจุลินทรีย์เซลล์เดียว โดยเฉพาะแบคทีเรียและอาร์เคีย (archaea) สองกลุ่มใหญ่นี้เป็นรูปแบบชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักบนโลก พวกมันมีอยู่มากกว่า 3,000 ล้านปีแล้ว นานก่อนที่สัตว์และพืชจะถือกำเนิดขึ้น

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่ามีชีวมณฑลที่อยู่ลึกลงไปใต้ผืนดินซึ่งมีความหลากหลายสูงอีกด้วย “มีสิ่งมีชีวิตหลายประเภทที่อาศัยอยู่ลึกใต้ดิน” คารา แม็กนาโบสโก นักธรณีชีววิทยาจาก ETH ซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าว

แบคทีเรียแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าไฟลัม มีเพียงไม่กี่สิบกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการ จากที่คาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 1,300 กลุ่ม “ไฟลัมเหล่านี้เกือบทั้งหมดสามารถพบได้ใต้ดิน” แม็กนาโบสโกกล่าว

NASA

ที่มาของภาพ,NASA

คำบรรยายภาพ,พบซากของก้นทะเลสาบบนพื้นผิวของดาวอังคาร แม้ว่าน้ำที่เหลืออยู่จะอยู่ลึกลงไปใต้ดินในปัจจุบัน

การวิเคราะห์อภิมาน [วิธีการทางสถิติที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ] ในปี 2023 พบว่าระบบนิเวศใต้ดินส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยสองไฟลัมหลักคือ Pseudomonadota และ Firmicutes แบคทีเรียประเภทอื่นพบได้น้อยกว่ามาก แต่ก็ยังมีไฟลัมที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

จุลินทรีย์เหล่านี้จึงไม่สามารถได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรงเหมือนกับสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์แสงบนพื้นผิวโลก เนื่องจากเป็นที่มืดสนิท “สิ่งที่สำคัญมากที่ควรทราบคือ พวกมันส่วนใหญ่ไม่ใช้ชีวิตโดยขึ้นอยู่กับดวงอาทิตย์” ลอยด์กล่าว

พวกมันยังไม่ได้รับสารอาหารหรือปัจจัยอื่น ๆ จากด้านบนอีกด้วย แม็กนาโบสโกกล่าวว่าระบบนิเวศลึกลงไปใต้ผืนดินหลายแห่ง “ถูกตัดขาดจากพื้นผิวอย่างสิ้นเชิง”

ระบบนิเวศเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากการสังเคราะห์ทางเคมี (Chemosynthesis) จุลินทรีย์ได้รับพลังงานโดยทำปฏิกิริยาเคมี โดยดูดซับสารเคมีจากหินและน้ำรอบ ๆ ตัว เช่น อาจใช้ก๊าซมีเทนหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นวัตถุดิบ “ใต้พื้นผิวมีปฏิกิริยาเคมีหลายรูปแบบ” ลอยด์กล่าว “พวกเราหลายคนใช้เวลาในการค้นหาปฏิกิริยาใหม่ ๆ ที่ช่วยสนับสนุนชีวิต”

จุลินทรีย์สังเคราะห์เคมีอาจดูเหมือนเป็นสิ่งแปลกประหลาดเพราะพวกมันพบได้ยากในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ซึ่งเป็นที่ที่มนุษย์เราใช้เวลาอยู่และมักพบได้เฉพาะในส่วนลึกของมหาสมุทรและใต้ดินที่แข็งตัว แต่พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดประเภทหนึ่งบนโลก สมมติฐานบางข้อมองว่าชีวิตแรกบนโลกเป็นสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์เคมี

แม้ว่าจุลินทรีย์เซลล์เดียวจะครองดินแดนใต้พื้นผิวโลก แต่ก็มีสัตว์หายากบางชนิดที่อาศัยอยู่ด้วย การศึกษาในปี 2011 ระบุพบไส้เดือนฝอยในน้ำที่อยู่ในรอยแยกจากความลึก 0.9-3.6 กิโลเมตร ในเหมืองที่แอฟริกาใต้ ดูเหมือนจะมีน้ำอยู่ที่นั่นมาอย่างน้อย 3,000 ปี บ่งชี้ว่าประชากรไส้เดือนฝอยอาจมีอายุหลายพันปีแล้ว การศึกษาเพิ่มเติมในปี 2015 พบพยาธิแบน พยาธิตัวแยก รอทิเฟอร์ และอาร์โทรพอดในน้ำในรอยแยกที่ความลึก 1.4 กิโลเมตร โดยน้ำที่นั่นมีอายุถึง 12,300 ปี สัตว์เหล่านี้กินจุลินทรีย์ชั้นบาง ๆ ที่อยู่บนผิวหิน

สำหรับเรา พื้นที่ใต้ดินลึกดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ท้าทายอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต เมื่อเทียบกับพื้นผิว ประชากรจุลินทรีย์มีอยู่น้อย แต่ก็ยังมีหินจำนวนมากที่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ ในปี 2018 แม็กนาโบสโกและเพื่อนร่วมงานได้ประมาณขนาดของชีวมวลที่อาศัยอยู่ใต้ทวีปต่าง ๆ โดยรวมข้อมูลจากจำนวนและความหลากหลายของเซลล์จากสถานที่ขุดเจาะทั่วโลก พวกเขาประเมินว่ามีเซลล์ประมาณ 2 ถึง 6×10^29 [หกคูณสิบยกกำลังยี่สิบเก้า] เซลล์ที่อาศัยอยู่ใต้ทวีปของโลก เพื่อเปรียบเทียบให้เห็น มีดวงดาวเพียงประมาณ 10^24 [สิบยกกำลังยี่สิบสี่] ดวงในจักรวาลที่สามารถสังเกตเห็นได้

“เรามีจำนวนเซลล์ที่มากมายมหาศาลอยู่ใต้เท้าของเรา” แม็กนาโบสโกกล่าว เธอยังเสริมว่า ประมาณ 70% ของแบคทีเรียและอาร์เคียทั้งหมดบนโลกอยู่ใต้ดิน

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความลึกของชีวมณฑลยังไม่ชัดเจน ชีวิตอาจมีขีดจำกัดด้านอุณหภูมิสูงสุด แต่เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าขีดจำกัดนั้นอยู่ที่ไหน ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถดำรงอยู่บนพื้นผิวลาวาที่หลอมเหลวได้ แต่จุลินทรีย์บางชนิดสามารถทนความร้อนที่น่าทึ่งได้ เช่น อาร์เคียที่ชื่อ Methanopyrus kandleri สามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้ที่อุณหภูมิ 122 องศาเซลเซียส

Nasa/JPL-Caltech/University of Arizona

ที่มาของภาพ,NASA/JPL-CALTECH/UNIVERSITY OF ARIZONA

คำบรรยายภาพ,มีการพบสิ่งที่อาจเป็นภูเขาไฟโคลนบนพื้นผิวของดาวอังคาร

หากขุดลึกลงไปใต้ดินมากพอ ความดันก็จะกลายเป็นปัญหา ประเภทของหินก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะมันส่งผลต่อปฏิกิริยาเคมีที่สามารถเกิดขึ้นได้ และทำให้เกิดประเภทของจุลินทรีย์ที่ใช้การสังเคราะห์ทางเคมีที่สามารถอาศัยอยู่ที่นั่นได้ “แต่ฉันไม่สามารถบอกตัวเลขให้คุณได้ว่า [ชีวิตอยู่ลึกลงไปได้แค่ไหน] เพราะเรายังไม่ถึงจุดนั้น เรายังไม่ได้เจาะลึกขนาดนั้น” ลอยด์กล่าว ขีดจำกัดอาจลึกอย่างน่าประหลาดใจ การศึกษาตัวอย่างจากภูเขาไฟโคลนในปี 2017 แสดงให้เห็นว่าชีวิตอาจมีอยู่ลึกลงไป 10 กิโลเมตร ใต้พื้นทะเล

ชีวิตบางส่วนดำเนินไปอย่างช้ามาก “มีบางส่วนของใต้พื้นผิวโลก โดยเฉพาะใต้มหาสมุทรของเรา ซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นเวลาหลายล้านปี” ลอยด์กล่าว เนื่องจากไม่มีสารอาหารใหม่ ๆ เข้ามาจากด้านบน และไม่มีทางหนีไปไหน จุลินทรีย์ในสถานที่เหล่านี้มีอาหารน้อยมาก “นั่นหมายความว่าพวกมันไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะสร้างเซลล์ใหม่” เธอกล่าว แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกมันจะชะลอการเผาผลาญและแทบจะอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง “มันค่อนข้างสมเหตุสมผลที่เซลล์เดียวอาจมีชีวิตอยู่ได้นานนับพันปีหรือนานกว่านั้น”

สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ที่พึ่งพาปฏิกิริยาเคมีระหว่างหินและน้ำ และอาจมีอัตราการเผาผลาญที่ช้ามาก อาจเป็นไปได้ที่จะพบในหินที่อุดมไปด้วยน้ำใต้พื้นผิวของดาวอังคารลึกลงไป

จุลินทรีย์บนดาวอังคาร

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดหรือโดยตรงเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แม้จะมีการส่งภารกิจสำรวจที่ไม่มีลูกเรือไปยังดาวเคราะห์สีแดงมานานหลายทศวรรษแล้ว พื้นผิวของดาวอังคารแห้งและเย็น และยังไม่มีสิ่งมีชีวิตใดปรากฏในภาพของกล้องรถสำรวจบนดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม ลักษณะต่าง ๆ เช่น หุบเขา บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารเคยมีน้ำไหลบนพื้นผิวเมื่อหลายพันล้านปีก่อน น้ำบางส่วนอาจสูญหายไปในอวกาศ แต่ทีมของไรท์สรุปว่ายังมีน้ำจำนวนมากอยู่ใต้พื้นผิว

“เรารู้ว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตแบบที่เรารู้จัก” ลอยด์กล่าว ดังนั้น บางทีพื้นผิวของดาวอังคารอาจเคยเอื้อต่อการอยู่อาศัย และตอนนี้อาจเป็นเพียงใต้พื้นผิวเท่านั้นที่ยังเอื้อต่อการดำรงชีวิต “ฉันชอบความคิดที่ว่าชีวิตอาจถูกฝังอยู่ใต้ดิน” เธอกล่าว

จุลินทรีย์บนดาวอังคารอาจยึดติดกับการดำรงชีวิตแม้จะมีสารอาหารเพียงน้อยนิด เหมือนกับจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ลึกใต้มหาสมุทรของโลก “กระบวนการแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นใต้พื้นผิวของเราสามารถเกิดขึ้นบนดาวอังคารได้” แม็กนาโบสโกกล่าว

หลักฐานที่บ่งบอกถึงชีวิตมากที่สุดจนถึงปัจจุบันคือการพุ่งของก๊าซมีเทนในบรรยากาศของดาวอังคาร ซึ่งมีความแตกต่างตามฤดูกาล บนโลก ก๊าซมีเทนมักถูกสร้างขึ้นโดยจุลินทรีย์ ดังนั้นก๊าซนี้อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากชีวิตใต้ดิน อย่างไรก็ตาม ลอยด์เตือนให้ระมัดระวัง “มีหลายสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้เกิดการพุ่งของก๊าซมีเทนได้” เธอกล่าว

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอื่น ๆ อีกมากมายต่อชีวิตใต้พื้นผิวของดาวอังคาร “ชีวิตไม่ได้ต้องการแค่น้ำ” ลอยด์กล่าว “มันต้องการพลังงานและที่อยู่อาศัย ดังนั้นมันจึงต้องการแหล่งที่อยู่” เราไม่ทราบว่ารูพรุนในหินของดาวอังคารมีขนาดใหญ่พอสำหรับจุลินทรีย์หรือไม่ เช่นเดียวกัน องค์ประกอบทางเคมีของหินที่ลึกลงไปก็มีความสำคัญ เนื่องจากพวกมันจะเป็นแหล่งพลังงานเคมี

สำหรับแม็กนาโบสโก “ความไม่แน่นอนที่ใหญ่ที่สุด” เกี่ยวกับชีวิตบนดาวอังคารคือ “มันเกิดขึ้นหรือไม่” เนื่องจากเราไม่รู้ว่าชีวิตแรกเกิดขึ้นจากวัสดุที่ไม่มีชีวิตได้อย่างไร เราจึงไม่รู้ว่าสภาพบนดาวอังคารเคยเหมาะสมสำหรับการเกิดขึ้นของชีวิตหรือไม่ “ถ้าชีวิตสามารถพัฒนาบนดาวอังคารได้” เธอกล่าว “มันก็มีโอกาสมากที่จะยังคงอยู่รอดและมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบัน”

หากมีชีวมณฑลลึกบนดาวอังคารอยู่จริง เราจะหามันได้อย่างไร แนวคิดที่ชัดเจนคือการขุดเจาะลงไปในดาวอังคาร แต่เราจำเป็นต้องขุดลึกถึง 10 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นงานที่ยากแม้แต่บนโลก การทำเช่นนั้นบนดาวเคราะห์ที่ไม่มีอากาศที่หายใจได้หรือไม่มีน้ำไหล “มันยากกว่ามาก ๆ” แม็กนาโบสโกกล่าว

อย่างไรก็ตาม เราควรหลักฐานสนับสนุนได้ ภารกิจ Mars Sample Return ที่วางแผนไว้ของนาซาจะนำน้ำแข็งจากดาวอังคารกลับมายังโลก ตัวอย่างดังกล่าวอาจมีร่องรอยของชีวิตอยู่ด้วย

“การติดตามก๊าซมีเทนจะมีประโยชน์อย่างมาก” ลอยด์กล่าว ปัจจุบันเราไม่รู้ว่าก๊าซนี้มาจากไหน “หากเราพบว่ากระเปาะน้ำเกี่ยวข้องกับการพุ่งของก๊าซมีเทน” นั่นจะบ่งบอกถึงสิ่งมีชีวิต เธอกล่าว

สุดท้าย หากดาวอังคารมีน้ำเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ จริงๆ เราอาจใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ บนโลก ลักษณะต่าง ๆ เช่น น้ำพุร้อน นำน้ำจากใต้ดินลึกขึ้นมาบนพื้นผิว “ดาวอังคารมีภูเขาไฟโคลน” ลอยด์กล่าว “มีบางจุดบนดาวอังคารที่คุณสามารถไปถึงและมีตัวอย่างจากใต้พื้นผิวลึกที่ถูกนำขึ้นมาบนพื้นผิว”

อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะได้คำตอบที่แน่ชัด คำตอบนั้นอาจทำให้ผิดหวังได้ด้วย ดาวอังคารมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกและกิจกรรมไฮโดรลิกน้อยกว่าโลกมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าชีวิตอาจมีอยู่น้อยมากหรือไม่มีอยู่เลย “เราอาจกำลังมองหาชีวิตที่ไม่มีชีวิตมานานแล้ว” ลอยด์กล่าว ในกรณีดังกล่าว สิ่งที่เราอาจพบอาจเป็นเพียงหลักฐานฟอสซิล ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ “ไม่ว่าจะทางไหน มันก็ถือเป็นชีวิตบนดาวอังคาร” เธอกล่าว

ไมเคิล มาร์แชล เป็นนักข่าวอิสระด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้เขียนหนังสือ The Genesis Quest: The geniuses and eccentrics on a journey to uncover the origin of life on Earth (ภารกิจแห่งการกำเนิด: อัจฉริยะและผู้มีความแปลกประหลาดในการค้นพบต้นกำเนิดของชีวิตบนโลก)

ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/c0k4pem32eko